ค่ายรถญี่ปุ่น “โตโยต้า” ลุย MOU สรรพสามิต ขายรถ EV ในไทย

28 เม.ย. 2565 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 14:41 น.

สรรพสามิต เผย 29 เม.ย.65 ลุย MOU ค่ายรถ “โตโยต้า” เพื่อรับเงินอุดหนุนของรัฐฯ ในการส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ชี้ถือเป็นค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่นรายแรกที่เข้าร่วมมาตรการ พร้อมยืนยันรัฐมีวงเงินสนับสนุนเพียงพอ โดยงบปีแรก 3,000 ล้าน อุดหนุนรถไฟฟ้าได้ 2 หมื่นคัน

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ว่า ในวันพรุ่งนี้ (29 เม.ย. 65) ค่ายรถยนต์โตโยต้า จะลงนามร่วมมือมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ของรัฐบาล กับกรมสรรพสามิต โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

 

พร้อมเชื่อว่าจะมีค่ายรถยนต์อื่นๆ เข้าร่วมมาตรการเพิ่มเติม เช่น ค่ายเนต้า ซึ่งได้แสดงความสนใจมาแล้วโดยล่าสุดอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดกับบริษัทแม่ 

รวมทั้งเชื่อว่าจะมีข่าวดีเพิ่ม จากการที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปพบผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ค่ายรถยนต์มากขึ้น ถึงการผลักดันและส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทย

 

ขณะที่ปัญหาค่ายรถสัญชาติจีน ที่ต้องหยุดจองรถชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ชิปนั้น จากการสอบถามคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม จากยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา พบว่ามียอดจองประมาณ 6,000 คัน ซึ่งบางค่ายที่มีการนำเข้ารถยนต์เข้ามาแล้ว ก็จะเริ่มส่งมอบได้เลย ขณะที่บางค่ายก็จะเริ่มทยอยส่งมอบได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งหลังมีการส่งมอบรถเรียบร้อยแล้ว ทางค่ายรถยนต์จึงจะทำสรุปเพื่อส่งมาขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตามสัดส่วนที่กำหนด

 

ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณที่รัฐบาลได้ตั้งไว้สำหรับการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าในปีแรกที่ 3,000 ล้านบาทนั้น ไม่มีปัญหา และเพียงพอหากมียอดจองซื้อรถเข้ามามากกว่านี้ เนื่องจากวงเงินดังกล่าวสามารถอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 20,000 คัน  ซึ่งหากมีความต้องการมากกว่า 20,000 คัน กระทรวงการคลังก็พร้อมพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เพิ่มเติม

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วงเงินกองทุน 3 พันล้านที่ใช้เพื่ออุดหนุนราคารถยนต์ EV สูงสุดไม่เกิน 150,000 บาทต่อคันนั้น ในปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ยื่นขอใช้สิทธิ์ไปแล้วกว่าพันคัน เป็นวงเงินที่ใช้จ่ายออกไปราว 10 ล้านกว่าบาทเท่านั้น 

 

สาเหตุที่การอนุมัติสิทธิ์ดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปัญหาการผลิตรถยนต์ EV ที่ผลิตไม่ทันกับความต้องการของผู้ซื้อ เนื่องจากค่ายรถยนต์มีปัญหาขาดแคลนชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในรถยนต์ EV

 

อย่างไรก็ตามมีค่ายรถยนต์ EV ที่มียอดการสั่งจองรถยนต์และยื่นขอใช้สิทธิ์แล้วเป็นจำนวนมาก เช่น ค่าย GWM จากจีน  ยื่นจองขอใช้สิทธิ์มาแล้ว 2 พันคัน และ ค่าย MG อีก 3 พันคัน ซึ่งหากอนุมัติสิทธิ์ทั้งหมด ก็ใช้เงินเพียง 750 ล้านบาท ดังนั้นเงินกองทุน 3 พันล้านบาทยังเพียงพอสำหรับปีนี้