อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้ปิด "แข็งค่า"ที่ระดับ 34.20 บาท/ดอลลาร์

29 เม.ย. 2565 | 12:39 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 19:41 น.

ค่าเงินบาท "แข็งค่า"ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ ตามปัจจัยทางเทคนิค ประกอบกับแรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ เริ่มชะลอลงก่อนการประชุมเฟดวันที่ 3-4 พ.ค.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทฟื้นตัวกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ " แข็งค่า"ขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทพลิกแข็งค่ากลับมา ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินบาท (ขายเงินดอลลาร์ฯ) ตามปัจจัยทางเทคนิค หลังจากที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าผ่านแนว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ประกอบกับแรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ เริ่มชะลอลงก่อนการประชุมเฟดวันที่ 3-4 พ.ค. เนื่องจากตลาดรับรู้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดพร้อมกับลดงบดุลในการประชุมเดือนพ.ค. ไปมากแล้ว

สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทย 486.77 ล้านบาท ขณะที่มี NET INFLOWS เข้าตลาดพันธบัตร 415 ล้านบาท  
 


ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 29 เมษายน 2565 โดยธปท. อยู่ที่ -7.97 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -4.86 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) 

ขณะที่ระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 3,494 ล้านบาท และมีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตร 1,961 ล้านบาท (มาจาก การซื้อสุทธิพันธบัตร 2,156 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้หมดอายุ 195 ล้านบาท)

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่  2-6พฤษภาคม2565 คาดไว้ที่ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่

 

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนเม.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการของจีน ยุโรปและอังกฤษ