เงินบาทอ่อนพ่นพิษ กดดัน ส่งออก-นำเข้า

04 พ.ค. 2565 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2565 | 12:53 น.

กูรูชี้ผู้ส่งออกไทย อาจพลาดอานิสงส์บาทอ่อน หากเศรษฐกิจคู่ค้ายังเสี่ยง เตือนผู้นำเข้าต้องระวัง ป้องกันค่าเงิน ห่วง 2 ปัจจัยกดดัน “ผลของค่าเงิน-ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่ม” พบปริมาณซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพิ่ม 34.53%

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังอยู่ในทิศทาง “อ่อนค่า” ล่าสุดอยู่ในระดับ 34.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ 34.50 บาท และแนวโน้มยังอ่อนค่าอีก กดดันภาค“ส่งออก-นำเข้า” สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกดดันเงินเฟ้อ ส่งผลบวกต่อสกุลดอลลาร์ที่แข็งสุดในรอบ 20 ปี

 

การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ กลับเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินสกุลต่างๆทั่วโลก ที่ต่างก็อ่อนค่าลงอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะสกุลเงินเอเชีย อลลาร์สหรัฐ เห็นได้จากค่าเงินเยน ญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลงถึง 11.5%  เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่หากเทียบเยนต่อบาทแล้วจะพบว่า เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องทะลุ 26.35 บาทต่อ 100 เยนจากสิ้นปี 2564 ที่อยู่ในระดับ 28.84 บาทต่อ 100 เยน ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 26.47 บาทต่อ 100 เยนแข็งค่าขึ้น 8.95%  

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพสกุลเงินเอเซียช่วงนี้แตกต่างจากสกุลเงินดอลลาร์ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน  ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด) พร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และลดงบดุล เพื่อกดเงินเฟ้อที่เร่งตัว

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งเอเชียยังเผชิญความเสี่ยง ทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศไม่พร้อมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเฟด แม้แต่ธนาคารกลางจีนหรือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแกนหลักในภูมิภาคเอเซีย จำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่เผชิญความเสี่ยงเพิ่ม แม้เงินเฟ้อสูงค่าเงินอ่อนค่าก็ตาม

ทั้งนี้ปัจจัยพื้นฐานของสกุลเงินเอเซียและการดำเนินนโยบายการเงินระหว่างธนาคารกลางเอเชียกับเฟดแตกต่างกัน ดังนั้นแม้บางธนาคารกลางเตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องรอจังหวะที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยตลาดคาดการณ์อย่างเร็วที่สุด อาจจะเห็นธนาคารกลางฝั่งเอเซียปรับขึ้นดอกเบี้ยนยายอาจจะเป็นไตรมาส 3

 

สำหรับผู้ส่งออกไทยนั้น แม้จะได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยง หากเศรษฐกิจคู่ค้าต่างประเทศมีแรงหนุนน้อยและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงของผู้ส่งออกไทยซึ่งต้องติดตามในช่วงที่เหลือ

 

“ความเสี่ยงของผู้ส่งออกไทยคือ ดีมานด์จากต่างประเทศ หากไม่มีดีมานด์จากต่างประเทศอาจทำให้ผู้ส่งออกไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ที่สำคัญฝั่งผู้นำเข้าต้องระมัดระวังมากขึ้น และต้องบริหารหรือป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน เพราะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นเป็น 34.40 บาทต่อดอลลาร์ จากปีก่อนอยู่ที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุจากต้นทุนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน หรือวัตถุดิบบางส่วนมีแนวโน้มราคาปรับเพิ่มตามตลาดโลก” นางสาวกาญจนากล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศ ในช่วงที่เหลือต้องรอการฟื้นตัวกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งแนวโน้มจะทยอยฟื้นกลับมาแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 3.4% เป็น 3.2% ภายในปีนี้

 

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบราว 6,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิมมองบวก 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนปัจจัยพื้นฐานค่าเงินที่ยังไม่แข็งแรง จึงเห็นเงินบาทอ่อนค่า

เงินบาทอ่อนพ่นพิษ กดดัน ส่งออก-นำเข้า

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินเอเชียเทียบกับเงินบาท ตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึง ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 พบว่า เงินบาทเทียบเยนแข็งค่า 8.4% เงินบาทเทียบเงินวอนแข็งค่า 3.0% เงินบาทเทียบไต้หวันดอลลาร์แข็งค่า 3.2% เงินบาทเทียบริงกิตแข็งค่า 1.5%

 

เงินบาทเทียบหยวนแข็งค่า 0.7% เงินบาทเทียบดองเวียดนาม อ่อนค่า 2.4% เงินบาทเทียบรูเปียห์อ่อนค่า 0.9% เงินบาทเทียบสิงคโปร์ดอลลาร์ อ่อนค่า 0.6% เงินบาทเทียบเปโซอ่อนค่า 0.1% เงินบาทเทียบรูปีอ่อนค่า 0.1% 

 

ขณะที่การเคลื่อนย้ายของทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปี 65 ถึง 29 เมษายน 2565 พบว่า ยอดถือครองพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ 26,955 ล้านบาทเทียบทั้งปี 2564 ที่มีทุนต่างชาติไหลเข้า 165,781ล้านบาทและซื้อสุทธิในหุ้น 121,733 ล้านบาท จากที่มีไหลออกปีก่อน  48,577 ล้านบาท

 

สำหรับปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของไทยพบว่า ปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนธันวาคมปี 64 ปริมาณซื้อขายรวมอยู่ที่ 242,929 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปริมาณซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 12,146 ล้านดอลลาร์,ถัดมาเดือนมกราคมปี 65 ปริมาณซื้อขายรวมเพิ่มเป็น 248,815 ล้านดอลลาร์ ส่วนปริมาณซื้อขายต่อวัน เพิ่มเป็น 11,848 ล้านดอลลาร์

 

เดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณซื้อขายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 234,929 ล้านดอลลาร์ มีปริมาณการซื้อขายต่อวันเพิ่มเป็น 12,364 ล้านดอลลาร์ และเดือนมีนาคม ปริมาณซื้อขายรวมสูงขึ้นกว่า 34.53% เป็น 334,743 ล้านดอลลาร์ ปริมาณซื้อขายต่อวันสูงขึ้นกว่า 22.83% เป็น 14,554 ล้านดอลลาร์

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,780 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565