ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์กำกับ"utility token พร้อมใช้"เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้ลงทุน

31 พ.ค. 2565 | 02:11 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 13:25 น.

ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นการปรับปรุงแนวทางกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ให้สอดคล้องการใช้งาน และเพิ่มกลไกคุ้มครองผู้ลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้” (utility token พร้อมใช้) ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง พัฒนาการและการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป และมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม 

 

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง พัฒนาการและการใช้งาน และมีกลไกกำกับดูแลการซื้อขายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้มีกลไกการคุ้มครองผู้ซื้อขาย/ผู้ลงทุนให้เหมาะสมากขึ้น

 

เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) มีผลใช้บังคับ และมีภาคเอกชนหลายรายให้ความสนใจเสนอขาย “utility token พร้อมใช้” เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค รวมทั้งมีการใช้เพื่อการลงทุนและเก็งกำไรนั้น

ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลดังกล่าว โดยได้นำข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการหารือร่วมกับผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์
ดิจิทัลไทย สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบ focus group เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 มาประกอบการจัดทำหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น

 

(1) ผู้ออกเสนอขาย (issuer) ที่ประสงค์จะนำ “utility token พร้อมใช้” เข้าจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) ต้องได้รับอนุญาตให้ออกเสนอขายจาก ก.ล.ต. และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) โดยการขออนุญาตเสนอขายมี 2 ช่องทาง ได้แก่

 

  • แบบ Fast Track สำหรับ “utility token พร้อมใช้” ที่มีลักษณะตามที่กำหนด (Plain Vanilla) จะใช้เวลาพิจารณาภายใน 15 วันทำการ และ
  • แบบ Normal Track สำหรับ “utility token พร้อมใช้”” อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของแบบ Fast Track

 

ทั้งนี้ “utility token พร้อมใช้” จะต้องไม่เข้าข่ายเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางการชำระราคาค่าสินค้าและบริการ (means of payment)  

(2) สำหรับ “utility token พร้อมใช้” ที่ issuer ไม่ประสงค์นำเข้าจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายฯ แต่ไม่เข้าเงื่อนไขได้รับยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย จะต้องมาขออนุญาตเสนอขายจาก ก.ล.ต. และต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal ด้วย 

 

(3) การกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ “utility token พร้อมใช้” ในตลาดแรก และเปิดเผยข้อมูลต่อเนื่อง (ongoing disclosure) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อขายจะมีข้อมูลที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยให้ issuer เปิดเผยข้อมูลก่อนการเสนอขายและภายหลังการเสนอขายตามแนวทางการเปิดเผยข้อมูล เช่น สิทธิของผู้ถือ แผนธุรกิจของโครงการ ผลตอบแทน วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการ สัญญาอัจฉริยะ เป็นต้น รวมถึงเปิดเผยข้อมูลกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงการหรือสิทธิของผู้ถืออย่างมีนัยสำคัญ และข้อมูลที่อาจกระทบต่อราคา นอกจากนี้ ในกรณีที่โครงการเปิดให้มีการนำโทเคนดิจิทัลไปวางหรือฝาก (staking) ได้ issuer ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของผลตอบแทนที่ผู้ถือจะได้รับอย่างชัดเจน  

 

(4) การกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรและเงื่อนไขการถือ “utility token พร้อมใช้” ของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (affiliated person) เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการกระทำอันไม่เป็นธรรม โดยมิให้ issuer ถือ “utility token พร้อมใช้” หรือจัดสรรให้แก่ affiliated person เกินกว่าอัตราส่วนที่กำหนด และมิให้ issuer และ affiliated person ขายหรือกระจาย “utility token พร้อมใช้” แก่บุคคลอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

(5) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายฯ ได้แก่ หลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (listing rule) หลักเกณฑ์การซื้อขาย (trading rule) และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลการติดตามและตรวจสอบสภาพการซื้อขาย (market surveillance) ให้มีความเหมาะสมตามสภาพความเสี่ยง เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อขาย รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและการกระทำอันไม่เป็นธรรม

 

(6) สำหรับ “utility token พร้อมใช้” ที่มีการออกเสนอขายก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายฯ และโทเคนดิจิทัลที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายฯ ที่กำหนดไว้ด้วย

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลดังกล่าว ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=810 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected], [email protected], [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2565

 

หมายเหตุ: