‘วงษ์สยาม’ จ่อฟ้องกรมธนารักษ์ ยื้อลงนามท่อส่งนํ้าอีอีซี

01 มิ.ย. 2565 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 15:46 น.

“วงษ์สยามก่อสร้าง” จ่อฟ้องธนารักษ์ และผู้เกี่ยวข้อง หลังยื้อลงนามบริหารท่อส่งน้ำอีอีซี ไม่มีกำหนด กระทบแผนดำเนินงานของบริษัท และทำรัฐเสียหาย ด้านธนารักษ์ ยังรอคำสั่งจาก รมว.คลัง ชี้หากไม่มีเหตุให้สอบเพิ่ม พร้อมเดินหน้าเซ็นสัญญา ภายใน มิ.ย.65

กรมธนารักษ์ต้องระงับการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกหรือ ท่อส่งน้ำอีอีซี กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด กะทันหันในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 หลังได้รับคำสั่งจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ชะลอเรื่องออกไปก่อน

 

หลังจากนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคามและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยออกมาแถลงข่าวว่า จะไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทันที เพื่อเอาผิดกับพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานอีอีซี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการที่ราชพัสดุ 6 คนที่อนุมัติเห็นชอบให้บริษัท วงษ์สยามฯ ชนะการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี รวมทั้งนายยุทธนา หยิมการุณ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่เร่งรีบรวบรัดเปิดซองในวันเกษียณของตัวเองเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

‘วงษ์สยาม’ จ่อฟ้องกรมธนารักษ์ ยื้อลงนามท่อส่งนํ้าอีอีซี

ล่าสุดนายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ถึงนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลังในฐานะกำกับดูแลกรมธนารักษ์เตรียมเดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดีต่อหน่วยงานของรัฐ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หากยังไม่มีความชัดเจนและล่าช้า ในการลงนามสัญญากับริษัทในฐานะผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำอีอีซี

 

ายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด (มหาชน)

 

ขณะเดียวกันวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 บริษัทฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมธนารักษ์ในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เพราะกรมธนารักษ์ได้ขอเลื่อนการลงนามสัญญากับบริษัทตั้งแต่วันที่ 3 พฤษาคม 2565 อย่างไม่มีกำหนดส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการจัดเตรียมเงิน เพื่อชำระให้กรมธนารักษ์ รวมทั้งยังกระทบต่อแผนการดำเนินงานตามข้อเสนอโครงการฯ ของบริษัท รวมถึงยังทำให้รัฐได้รับผลตอบแทนส่วนแบ่งรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 ทั้งนี้ หากกรมธนารักษ์ทอดเวลา จะทำให้ได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งส่วนรายได้มาเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เดือนละ 41.09 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าตอบแทนเดือนละ 3.72 ล้านบาทและส่วนแบ่งรายได้เดือนละ 37.37 ล้านบาท และหากยังให้อีสวอท์เตอร์ อาจมีข้อครหาเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยจ่ายค่าตอบแทนแบบเดิม ส่งผลต่อความเสียหายหน่วยงานรัฐ และเอื้อประโยชน์ให้อีสวอท์เตอร์ ซึ่งเป็นผู้แพ้การประมูล

 

“บริษัทได้เตรียมทีมทนายความในการดำเนินการฟ้องร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราวผลการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำใน อีอีซี ครั้งที่ 2 รวมทั้งฟ้องศาลอาญา ประเด็นที่ทำให้รัฐเสียหายจากการลงนามสัญญาบริหารโครงการล่าช้า ซึ่งความเสียหายส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ” นายอนุฤทธิ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอคำสั่งจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังถึงผลสอบการเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำอีอีซีว่า จะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้รายงานผลสอบไปตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ซึ่งหากผลออกมาในทางบวก ก็พร้อมที่จะเซ็นสัญญากับบริษัท วงศ์สยามฯทันที ภายในเดือนมิถุนายน แต่หากผลสอบพบว่า คณะกรรมการยังมีข้อสงสัยต้องกลับมาดูว่า มีข้อสงสัยในประเด็นใด ซึ่งตนพร้อมจะชี้แจงในทุกประเด็น

‘วงษ์สยาม’ จ่อฟ้องกรมธนารักษ์ ยื้อลงนามท่อส่งนํ้าอีอีซี

 

“ถ้ามีข้อสงสัยในข้อประเด็นใด ก็ต้องไปดูในประเด็นนั้น ว่าจะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติม หรือเพียงชี้แจงด้วยเอกสาร ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อมูลอยู่แล้ว และทุกประเด็นที่สังคมสงสัย ทางกรมธนารักษ์ก็สามารถชี้แจงได้หมด เพียงแต่ใครจะรับฟังแค่ไหนเท่านั้นเอง แต่เราชี้แจงอย่างมีเหตุมีผลทุกส่วน ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่กังวลการลงนามจะล่าช้า หากรมว.คลังมีคำสั่งมา จะสามารถดำเนินการทันที”นายประภาศกล่าว

 

ทั้งนี้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักในอีอีซี จากข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดจำนวน 25,693 ล้านบาท สัญญา 30 ปี มากกว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำในอีอีซีเดิมที่บริหารมาที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐที่ 24,212.84 ล้านบาท

‘วงษ์สยาม’ จ่อฟ้องกรมธนารักษ์ ยื้อลงนามท่อส่งนํ้าอีอีซี

 

ตามกำหนดเดิม ในวันลงนามในสัญญาทางบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต้องจ่ายเงินให้กรมธนารักษ์ 743.62 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินค้ำประกันสัญญา 118.97 ล้านบาท ค่าแรกเข้าวันลงนามสัญญา 580 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทนรายปี 44.64 ล้านบาท และในวันรับมอบท่อส่งน้ำ ต้องจ่ายเงินให้กับกรมธนารักษ์อีก 870 ล้านบาท และเมื่อบริษัท วงษ์สยามฯ เข้ามาบริหารท่อส่งน้ำแล้ว ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้รายปีให้กับกรมธนารักษ์ในอัตรา 27% ของรายได้จากการขายน้ำดิบ ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,788 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565