มติ 4 ต่อ 3 เสียงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมครั้งที่ 3 ของปีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อน กนง. เสียงแตก และมีทิศทางที่จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% เพื่อสะกัด เงินเฟ้อ ไม่ให้เร่งตัวขึ้นอีก หลังจากตัวเลข อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2565 ของกระทรวงพาณิชย์เพิ่มขึ้นถึง 7.1% ในรอบ 14 ปี ซึ่งสูงกว่า กนง.คาดไว้
รายงานข่าวทำเนียบรัฐบาลที่ระบุว่า รัฐบาลมีการประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปสูงสุดที่ 9% ในเดือนสิงหาคม 2565 สอดคล้องกับที่ตลาดเงินคาดการณ์ว่า กนง.น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า กนง.ให้ความสำคัญและจับตาใกล้ชิดกับเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ซึ่งยังอยู่ในกรอบนโยบายการเงิน แม้อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามข้อมูลจริง แต่คาดว่า เงินเฟ้อจะสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ จากจะทยอยลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566 และทั้งปีจะอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมาย
“เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายให้ครัวเรือนประมาณ 850 บาทต่อเดือนหรือประมาณ 3.6% ของรายได้ ซึ่งหากขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% พบว่า จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่ 120 บาทต่อเดือน หรือ 0.5% ของรายได้ ซึ่งต่างกันประมาณ 7-8 เท่า ซึ่งตัวเลขนี้สำคัญ เพราะกนง.เป็นห่วงว่า
การที่เงินเฟ้อสูง และยืนอยู่ในระยะเวลานาน ยิ่งจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายนานเท่านั้น ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนิดหนึ่งแต่ทำให้ดึงเงินเฟ้ออนาคตลงมา และอยู่ไม่นาน เป็นการชั่งน้ำหนักที่น่าจะคุ้มกับการดูแลภาระของประชาชน” ดร.ปิติกล่าว
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ถ้าดูจากสมมุตติฐานของกนง.ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปีนี้และปีหน้าเท่ากันที่ระดับ 105 ดอลลาร์/บาเรล ทำให้เงินเฟ้อที่มาจากราคาน้ำมันในปีนี้แทบจะหมดไป จึงขึ้นอยู่กับเงินเฟ้อพื้นฐานว่า จะเป็นระดับใด เป็นไปได้อาจจะบวก 2.0% เล็กน้อย
ส่วนการที่กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในแง่ผลที่จะไปดึงหรือชะลออัตราเงินเฟ้อนั้น คงจะไม่มีผลแรงนัก ซึ่งการที่เงินเฟ้อปีหน้าจะปรับลงมาเหลือ 2.5% เกิดจากปัจจัยราคาน้ำมันปีหน้าไม่สูงกว่าช่วงนี้
ขณะที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะพ้นก้นเหว กนง.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยช้า ไม่แรงและเร็วเหมือนเฟด โดยมองว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้ง อย่างมาก 2 ครั้ง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขึ้นกับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีแค่ไหน และปีหน้าขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้ง โดยสิ้นปีนี้จะเห็นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% อย่างมาก 1.00% ซึ่งปีนี้ยังเหลือการประชุมอีก 3 ครั้ง โดยสองครั้งสุดท้าย เชื่อว่า กนง.คงจะปรับขึ้นดอกเบี้นแน่
“ถ้าดอกเบี้ยขึ้น ส่วนใหญ่เงินเฟ้อที่จะลดลง 80-90% มาจากปัจจัยของราคาพลังงาน ดังนั้นปีหน้าราคาน้ำมันไม่น่าจะสูงกว่าที่กนง.คาดไว้” ดร.พชรพจน์กล่าว
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) หรือ SCBT กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังมีด้านอัพไซด์(Up-Side) ในครึ่งปีหลัง จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และจะเห็นภาพชัดมากในช่วงไฮซีซันในไตรมาส 4 ปีนี้ โดย มองว่า ครึ่งปีแรก จีดีพีขยายตัวได้ 2% และครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 5% รวมทั้งปีจีดีพีเติบโตได้ 3.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ธนาคารประเมินไว้ก่อนหน้าแล้ว
ส่วนปัจจัย Down Side ยังเป็นปัจจัยจากภายนอก ที่ได้ยินมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงกระทบการบริโภคโดยรวม ประกอบกับภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักๆ ที่อาจกระทบภาคส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือ
ขณะที่การคงดอกเบี้ยนโยบาย โดยที่ 3 เสียงโหวตให้ปรับขึ้นนั้น สะท้อนว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ไม่เหมือนสหรัฐฯ ซึ่งปัญหาหลักคือ เงินเฟ้อ แต่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะตั้งหลัก ต้องใช้เวลาในการที่จะกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิม
“เงินเฟ้อ เป็นโจทย์ยากและเป็นความกังวลทั้งไทยและโลก เพราะราคาน้ำมันปรับขึ้นทั้งโลก รวมทั้งราคาอาหารที่แพงขึ้นทุกประเทศจากแนวโน้มการขาดแคลน แม้เงินเฟ้อไม่สามารถแก้ปัญหาระยะสั้นๆ แต่นโยบายด้านการคลังยังต้องมีบทบาท ซึ่งเราเข้าใจข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ต้องแบ่งงบประมาณที่จำเป็นทั้งช่วงใกล้ และเพื่อเงินระยะไกลด้วย เพราะการจะออกจากโควิด-19 ต้องกลับมาเน้นการลงทุนพวกขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี เหล่านี้ควรจะกลับมาในปีหน้า”นายทิมกล่าว
ที่มา: หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,791 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. เงินเฟ้อ