พันธบัตร"ออมเพิ่มสุข"ระบบล่ม! เร่งทยอยจัดสรร 4 หมื่นล้าน ตามคิวคำสั่งซื้อ

16 มิ.ย. 2565 | 06:29 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 13:44 น.

สบน.แจงระงับขายพันธบัตรออมทรัพย์ ‘ออมเพิ่มสุข’ ชั่วคราว เหตุระบบจัดสรรคิวขัดข้อง ธปท.อยู่ระหว่างเร่งแก้ไข และทยอยจัดสรรวงเงิน 40,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนตามคิวคำสั่งซื้อ กรณีที่คำสั่งซื้อจากธนาคารไม่ได้รับการตอบรับ จะเร่งส่งเงินคืนให้เร็วที่สุด

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) แจงระงับขายพันธบัตรออมทรัพย์ออมเพิ่มสุข’ ชั่วคราว เหตุระบบจัดสรรคิดอัตโนมัติของธปท.ขัดข้อง อยู่ระหว่างเร่งแก้ไข โดยระบุว่า

 

ตามที่กระทรวงการคลังได้มีการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นออมเพิ่มสุข ผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่าย วงเงิน 40,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 และได้มีการแจ้งปิดระบบการจำหน่าย พันธบัตรในเวลาต่อมานั้น

 

อ่านเพิ่มเติม  : เปิดขายแล้ว พันธบัตร"ออมเพิ่มสุข"ผ่าน 4 ธนาคาร เริ่ม 15 มิ.ย.นี้

 

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารตัวแทนจำหน่าย  ต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากระบบจัดสรรลำดับอัตโนมัติ (automatic queuing system) ของ ธปท.ได้เกิดขัดข้องในระหว่างที่ธนาคารตัวแทนจำหน่ายทยอยส่งคำสั่งซื้อพันธบัตรเข้ามา ซึ่งทันทีที่เกิดเหตุ ธปท.ได้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถกลับมาจัดสรรพันธบัตรได้ 

พันธบัตร\"ออมเพิ่มสุข\"ระบบล่ม! เร่งทยอยจัดสรร 4 หมื่นล้าน ตามคิวคำสั่งซื้อ

ทั้งนี้ ธปท.จะจัดสรรวงเงินตามเวลาที่คำสั่งซื้อถูกส่งและถูกบันทึกอยู่ระบบของ ธปท. เป็นสำคัญ และจะจัดสรรคำสั่งซื้อตามหลักการมาก่อนได้ก่อน (first come first serve) ซึ่ง ธปท.ได้ทยอยส่งรายการพันธบัตรที่จัดสรรสำเร็จกลับไปยังธนาคารตัวแทนจำหน่ายแล้ว รวมถึงคืนเงินให้กับผู้ลงทุนกรณีที่คำสั่งซื้อจากธนาคารไม่ได้รับการตอบรับจากระบบ ธปท.หรือไม่มีการบันทึกในระบบ 

อย่างไรก็ดี ยังคงมีคำสั่งซื้อที่อยู่ในระบบยังคงรอการประมวลผลและตรวจสอบเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ธปท. จะจัดสรรคำสั่งซื้อตามคิวคำสั่งซื้อโดยเร็วที่สุด 

 

สบน. ขอเรียนว่าทุกหน่วยงานพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา และพยายามอำนวยความสะดวกในทุกวิถีทาง เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับบริการที่ดีที่สุด 

 

สบน. ขอขอบคุณผู้ลงทุนทุกท่านที่ให้ความสนใจลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ และขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นและจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อพันธบัตรที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต