คลัง เล็งปัดฝุ่น “ภาษีลาภลอย” ที่ดินรอบรถไฟฟ้า-ทางด่วน

20 มิ.ย. 2565 | 00:00 น.

คลัง เล็งปัดฝุ่น “ภาษีลาภลอย” จากผู้ได้ประโยชน์การพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐ ทั้ง รถไฟฟ้า , ทางด่วน ชี้เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย และสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการปฏิรูประบบภาษีของประเทศ ซึ่งหนึ่งในแนวทางนั้น คือ การนำกฎหมายภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง เพราะถือเป็นกฎหมายที่มองไปในอนาคต ว่า เมื่อเมืองมีการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟฟ้า , ทางด่วน จะส่งผลทำให้ราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงโครงการของรัฐ ปรับราคาขึ้น ก็ควรแบ่งผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมาให้กับรัฐ

“แนวคิดของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งตนมีส่วนในการผลักดันเมื่อหลายปีที่แล้ว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐ ที่ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณรัศมีโครงการสาธารณูปโภคปรับราคาสูงขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว

 

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

 

นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า เมื่อปี 2561 ครม. ได้อนุมัติร่างกฎหมายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสานต่อ แต่อย่างไรก็ตามการจะนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้ จะต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม  

 

ขณะที่สถานการณ์จัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ใน 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลสามารถจัดเก็บได้เกินเป้าหมาย 4.5 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มว่า ในเดือนที่ 8 จะสามารถจัดเก็บได้ดี ซึ่งหากรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินกว่าเป้าหมายมาก ก็อยู่ในวิสัยที่จะนำมาใช้ในมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax นั้น เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2561 ครม. ได้อนุมัติร่าง พรบ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ

 

โดยกำหนดเพดานภาษีไว้ไม่เกิน 5 % ของมูลค่าที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวรถไฟฟ้า,รถไฟความเร็วสูง,สนามบิน,ท่าเรือ หรือโครงการสาธารณูปโภคตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรัศมีที่ชัดเจนในแต่ละโครงการจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี จะเป็นทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ที่มีที่ดินตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กม. จากตัวสถานีขึ้นลง ไม่ว่า จะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง,รถไฟรางคู่,รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน,ท่าเรือ ,สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆที่จะกำหนดในกฎกระทรวง

 

โดยภาษีตัวนี้ จะเก็บเฉพาะราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากผลของโครงการสาธารณูปโภค โดยหักตัวมูลค่าอาคารออกไป การจัดเก็บภาษี จะแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คือ ช่วงตั้งแต่วันลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้นๆ จนถึงวันตรวจรับมอบโครงการ หรือเรียกว่าเป็นช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค

 

การซื้อขายที่ดินในช่วงนี้ จะถูกจัดเก็บภาษี windfall Tax ทุกครั้งที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีเฉพาะมูลค่าที่ดิน ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ณ วันที่ได้รับที่ดินแปลงนั้นมา กับราคาประเมินที่ดินในช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการนั้น (ช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค)

 

ช่วงที่สอง คือ ช่วงที่ก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้นแล้วเสร็จ จะเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว ไม่ได้เก็บทุกครั้งที่เปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีจากมูลค่าที่ปรับเพิ่มขึ้น เฉพาะที่ดิน หรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น มูลค่าที่ดินที่ต่ำกว่านี้ไม่มีภาระภาษี และยกเว้นที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม