รู้จัก“ภาษีลาภลอย” หลัง “คลัง” เล็งปัดฝุ่นเพดานไม่เกิน 5 % ของมูลค่าที่ดิน

20 มิ.ย. 2565 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2565 | 11:33 น.

พามาทำความรู้จักเเละเข้าใจ “ภาษีลาภลอย” อีกครั้ง หลัง “กระทรวงการคลัง” เล็งปัดฝุ่นกฎหมาย เพดานไม่เกิน 5 % ของมูลค่าที่ดิน

ภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax  ล่าสุด นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีลาภลอย (Windfall tax) ที่กระทรวงการคลังได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และหากรัฐบาลมีเหตุผลที่จะต้องดำเนินการเก็บภาษีในส่วนนี้ ก็พร้อมทำได้ เพราะร่างกฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว

พร้อมระบุว่า เป็นกฎหมายที่มองไปในอนาคต ว่า เมื่อเมืองมีการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟฟ้า ,ทางด่วน เป็นต้น ทำให้ราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงโครงการของรัฐ ปรับราคาขึ้น ก็ควรแบ่งผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมาให้กับรัฐ

เรื่องนี้เคยเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ช่วงกลางปี 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. …” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีลาภลอย” โดยกำหนดเพดานภาษีไว้ไม่เกิน 5 % ของมูลค่าที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวรถไฟฟ้า,รถไฟความเร็วสูง,สนามบิน,ท่าเรือ หรือโครงการสาธารณูปโภคตามที่กฎหมายกำหนด

 

วัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายภาษีลาภลอย

  • เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐ ที่ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณรัศมีโครงการสาธารณูปโภคปรับราคาสูงขึ้น

 

รู้จัก ภาษีลาภลอย 

  • ที่ดินที่มีโครงการของรัฐ ตัดผ่านหรือภาครัฐกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง  รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือรถไฟฟ้ารางคู่  โครงการสร้างสนามบิน หรือโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของภาครัฐ  
  • เป็นสาเหตุที่ทำให้ ที่ดินบริเวณนั้นเกิดมูลค่าที่พุ่งสูงขึ้น หรือเรียกง่ายๆว่า อย่างกับได้ ลาภลอย
  • ภาครัฐจึงเห็นว่า ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมา เจ้าของที่ดินหรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ จะต้องเสียภาษีชนิดนี้ 

 

ใครมีหน้าที่เสียภาษีลาภลอย

  • เป็นทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ที่มีที่ดินตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กม.จากตัวสถานีขึ้นลง ไม่ว่า จะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง,รถไฟรางคู่,รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน,ท่าเรือ ,สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆที่จะกำหนดในกฎกระทรวง
  • ภาษีเก็บเฉพาะ ราคาที่ดินที่ปรับสูงขึ้น จากผลของโครงการสาธารณูปโภค โดยหักตัวมูลค่าอาคารออกไป

 

การจัดเก็บภาษี จะแบ่งเป็นสองช่วง

ช่วงแรก

  • วันลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคจนถึงวันตรวจรับมอบโครงการ หรือเรียกว่าเป็นช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค
  • การซื้อขายที่ดินจะถูกจัดเก็บภาษี windfall Tax ในทุกครั้งที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ
  • เก็บภาษีเฉพาะมูลค่าที่ดิน ที่ปรับเพิ่มขึ้น ใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ณ วันที่ได้รับที่ดินแปลงนั้นมา กับราคาประเมินที่ดินในช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการนั้น 

 

ช่วงที่สอง 

  • ช่วงที่ก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคเสร็จ จะเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว ( one Time) ไม่ได้เก็บทุกครั้งที่เปลี่ยนมือ
  • เก็บภาษีจากมูลค่าที่ปรับเพิ่มขึ้น เฉพาะที่ดิน หรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป
  • มูลค่าที่ดินที่ต่ำกว่านี้ไม่มีภาระภาษี และยกเว้นที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม

 

"ภาษีลาภลอย" ในต่างประเทศมีการบังคับใช้มานานแล้ว ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา