“สันติ” ถาม หากเปิดประมูลท่อส่งน้ำฯ ใหม่ รายได้ลด ใครรับผิดชอบ?

22 มิ.ย. 2565 | 23:30 น.

"สันติ" รมช.คลัง พร้อมรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มั่นใจตอบได้ทุกประเด็น พร้อมถามกลับ คนที่ให้ล้มประมูลท่อส่งน้ำเพื่อเปิดประมูลรอบใหม่ หากรายได้รัฐลดลง ใครจะรับผิดชอบ

นายสันติ พร้อมพัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีเป็น 1 ใน 11 คนที่ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในประเด็นปล่อยปละละเลยปล่อยให้มีการทุจริต ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ  ว่า ไม่มีความกังวลใจใดๆ เพราะสามารถตอบและชี้แจงได้ทุกประเด็น

 

พร้อมยืนยันว่าได้รักษาผลประโยชน์ของรัฐอย่างตรงไปตรงมา และสามารถพิสูจน์ได้ว่ารักษาผลประโยชน์รัฐอย่างเต็มที่ และได้ทำตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง

นายสันติ ยังได้ถามกลับ ถึงประเด็นที่มีผู้ให้ล้มการประมูลโครงการท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก หรือ EEC ว่า หากมีการเปิดประมูลครั้งใหม่ และผลการประมูลต่ำกว่าเดิม ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

 

“หากจะล้มประมูล เพื่อเปิดประมูลใหม่ ก็ต้องมาการันตี มารับผิดชอบด้วยว่า รัฐจะได้ราคาจะสูงกว่านี้ หากเสนอให้ล้มประมูล ก็ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน อย่าพูดโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน เพราะถ้าได้ราคาต่ำกว่าเดิม เราก็ต้องเข้าคุก เพราะทำให้รัฐเสียประโยชน์" นายสันติ กล่าว

นายสันติ ยังกล่าวย้ำถึงการเปิดประมูลท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ของกรมธนารักษ์ ซึ่งสาเหตุที่ต้องยกเลิกการเปิดประมูลในรอบแรกเนื่องจากเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์)​ ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการกำหนดปริมาณศักยภาพของท่อส่งน้ำ และมีการเสนอผลตอบแทนให้รัฐต่ำ

 

ดังนั้นจึงเป็นสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ ที่จะยกเลิกประมูลและเปิดประมูลใหม่เมื่อทีโออาร์สมบูรณ์​ ซึ่งผลการประมูลใหม่ พบว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอราคา 25,693 ล้านบาท ขณะที่บริษัท  จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ เสนอราคา 24,212 ล้านบาท

 

โดยมีการคิดราคาค่าน้ำเท่ากัน ตลอดอายุสัญญา 30 ปี ที่ 10.98 บาทต่อลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)​ ดังนั้นจึงสามารถตอบได้ว่าทุกฝ่ายมีการรักษาผลประโยชน์ของรัฐแล้ว

 

นายสันติ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าผู้ใช้น้ำในภาคตะวันออกจะพึ่งพอใจอย่างแน่นอน เพราะนอกจากราคาค่าน้ำที่ผู้ใช้น้ำจะจ่ายลดลงเหลือ 10.98 บาทต่อ ลบ.ม. แล้ว  รายได้ที่ถูกนำส่งเข้ารัฐยังเพิ่มขึ้นด้วย

 

ต่างจากในอดีต ที่มีข้อร้องเรียนจากผู้ใช้น้ำ ว่าถูกเรียกเก็บค่าน้ำสูงถึง 12-23 บาทต่อ ลบ.ม. ขณะเดียวกันรายได้ที่นำส่งเข้ารัฐยังน้อยกว่า โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่ได้รับสัมปทาน จ่ายผลประโยชน์ให้กับรัฐเพียง 500 กว่าล้านบาทเท่านั้น