KBANK จับสัญญาณไหลออกของเงินทุนต่างชาติ-รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ค.ของไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวันที่ 27มิ.ย.-1 ก.ค. 2565 ที่ระดับ 35.25-35.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวันที่ 27มิ.ย.-1 ก.ค. 2565 ที่ระดับ 35.25-35.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ค.ของไทย
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ค.
ดัชนีราคาบ้านเดือนเม.ย. รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. จีดีพีไตรมาส 1/65
และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน และดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.23 บาท
ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ…ส่งออกไทยไปญี่ปุ่นหดตัว 0.6%
- เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าต่ำสุดในรอบกว่า 24 ปี ทำให้การนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ ส่งผลทางตรงต่อการส่งออกของไทยอย่างจำกัด เนื่องด้วยแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.1 ในปีนี้ ประกอบกับสินค้าไทยกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้าบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตที่จำเป็น ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อออกไป อีกทั้งค่าเงินบาทของไทยเสียเปรียบคู่แข่งในเอเชีย รวมแล้วทำให้สินค้าไทยเสียประโยชน์ 500-800 ล้านดอลลาร์ฯ การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นตลอดปี 2565 หดตัวร้อยละ 0.6
- ขณะที่ผลทางอ้อมอานิสงส์ให้การนำเข้าไทยจากญี่ปุ่นได้ประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิต อาทิ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ผลบวกดังกล่าวหนุนให้มูลค่านำเข้าช่วงที่เหลือของปีเร่งตัว แต่ด้วยฐานที่สูงในปีก่อนทำให้การนำเข้าปี 2565 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 โดยสุทธิแล้วปีนี้ไทยยังคงขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นที่ราว 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของนำเข้าและส่งออกยังคงชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ