ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,500.68 จุด เพิ่มขึ้น 823.32 จุด หรือ +2.68%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,911.74 จุด เพิ่มขึ้น 116.01 จุด หรือ +3.06% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,607.62 จุด เพิ่มขึ้น +375.43 จุด หรือ +3.34%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 5.4%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 6.4% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 7.5%
ตลาดปรับตัวขึ้นมากกว่า 3% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นวันเดียวมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 โดยหุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดบวกอย่างน้อย 1.5%
ตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังจากตลาดถูกกดดันจากความวิตกว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีนั้น อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลงอย่างรุนแรงในสัปดาห์นี้ และบรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์ในขณะนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของสหรัฐจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับราว 3.5% ภายในเดือนมี.ค.ปีหน้า ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ระดับราว 4%
หุ้นกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น โดยดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารในดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 3.7% หลังการทดสอบภาวะวิกฤตประจำปีของเฟดบ่งชี้ว่าธนาคารต่างๆ มีเงินทุนเพียงพอที่จะรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หุ้นรายตัวที่พุ่งขึ้น รวมถึงหุ้นเฟดเอ็กซ์ ซึ่งทะยานขึ้น 7.2% หลังคาดการณ์ผลกำไรทั้งปีแข็งแกร่งเกินคาด
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุน หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 10.7% สู่ระดับ 696,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่า อาจลดลงสู่ระดับ 588,000 ยูนิต แต่เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านใหม่ ลดลง 5.9% ในเดือนพ.ค.
การเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 50.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1940 และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.2 หลังจากแตะระดับ 58.4 ในเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 50.2 ด้วย