ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในที่ประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2565โดยระบุ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีสัญญาณที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recessions)ในปีนี้
แต่แนวโน้มปีหน้ามีความเสี่ยงที่ต้องจับตา โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจึงเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับนโยบายการเงินค่อนข้างเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้ฝังตัวในระบบเศรษฐกิจ
เพราะหากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจนาน นอกจากต้องใช้ยาแรงโดยปรับขึ้นดอกเบี้ยมากแล้วยังเป็นการฉุดให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐปีหน้าจะชะลอลงชัดเจนจากปีนี้
สำหรับประเทศไทยภาพใหญ่นั้นธปทติดตามแรงขับเคลื่อนของเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเนื่องจากปัจจัยด้านซัพพลายช็อคเป็นเหตุผลทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งสูงมากในปีนี้ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกค่อนข้างอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน
และมาจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่แต่การดำเนินนโยบายการเงินเป็นการมองระยะปานกลางโดยเฉพาะปีหน้า แต่ความเสี่ยงโอกาสแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ หาก หากนโยบายการเงินไม่ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ
" แนวนโยบายที่คณะกรรมการกนง.จะถอนคันเร่งเพื่อมิให้เศรษฐกิจร้อนแรงและลดแรงกดดันของเงินเฟ้อซึ่งได้มีการคุยเป็นการภายในมาก่อนหน้าแล้วแต่ตอนนี้ถึงเวลาต้องสื่อสารชัดเจนมากขึ้น"
ดร.ปิติกล่าวว่า ความท้าทายนโยบายการเงินทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีการชั่งน้ำหนักทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง
ในแง่เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นช่วงสั้น หรือภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงหากปรับขขึ้นดอกเบี้ย ภาระอาจจะตกกับ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่มีภาระหนี้สูง เป็นการชั่งน้ำหนักที่คณะกรรมการกนง.ต้องทำ
สิ่งสำคัญที่ยึดหลักในการชั่งน้ำหนักคือความเสี่ยงอันดับต้นๆถ้าเงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงและฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจเป็นเวลานานจะเป็นต้นทุนสูง ปกติไม่น่าจะมาจากปัจจุยฝั่งอุปทาน ไม่ว่าราคาน้ำมันหรือราคาพืชผลราคาเหล่านี้จะปรับขึ้นระยะสั้นและจะคลี่คลายภายใน 1 หรือ 1 ปีครึ่งซึ่งอยู่ในประมาณการ
แต่ความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่อยู่นานจะมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1.เศรษฐกิจที่ร้อนแรงมีการเพิ่มค่าจ้างและส่งให้ผู้ประกอบการตั้งราคาเพิ่มหรือแรับราคาสินค้าเพิ่ม และ
2.คาดการณ์เงินเฟ้อ สูงหลุดกรอบยึดเหนี่ยว ซึ่งความเสี่ยงทั้ง 2 ส่วนนี้คณะกรรมการกนง.จะพิจารณาเป็นอันดับแรกและเป็นเหตุผลการถอนคันเร่งนโยบายซึ่งประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดได้สะท้อนการที่จะถอนคันเร่งไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำหรือมีหนี้ ภายใต้ประมาณการของธปท.พบว่า ต้นทุนที่มาจากเงินเฟ้อจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายสูงประมาณ7-8เท่าต่อครัวเรือนซึ่งสูงกว่าต้นทุนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจึงต้องถอนคันเร่ง โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม กรอบการดำเนินนโยบายการเงินจุดประสงค์คือยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ซึ่งเป็นที่เชื่อถือมาแล้วกว่า 20 ปีส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นอาจเป็นรอง เพราะภาวะปัจจุบันไม่ต้องการดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่ต่ำเกินไป
" ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีผลจาก 2 ส่วนคือเงินเฟ้อหลายประเทศสูงขึ้นเพราะอยู่นอกเหนือการควบคุมแต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในระยะต่อไป ซึ่งหากปล่อยเป็นธรรมชาติเงินเฟ้อจะสูงในระยะสั้น รายได้ปรับลดลง เศรษฐกิจชะลอตัวลง และจะดึงเงินเฟ้อลง ซึ่งนโยบายการเงินไม่ใช่ส่วนหลัก คือ นโยบายการเงินจะเป็นกันชนให้พัฒนาการของเศรษฐกิจไม่ไปเสริมหรือซ้ำเติมให้เงินเฟ้อเพิ่มสูง และเงินเฟ้อจะคลี่คลายทยอยลดลงในปีหน้า
ต่อข้อถามถึงการปรับลดจำนวนหรือความถี่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เหลือ6ครั้งจากเดิม8ครั้งนั้น
ดร.ปิติระบุว่า เป็นเรื่องของข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามาประมาณ 6-7 สัปดาห์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีนัยยะต่อนโยบายได้และเหมาะกับการดูพัฒนาการซึ่งหลายประเทศมีความถี่น้อยกว่าไทย
เช่น สวีเดนมีการประชุมต่อปี 5 ครั้งไต้หวัน 4 ครั้ง และสิงคโปร์แค่ 2 ครั้ง นอกจากนี้คณะกรรมการกนงก็มีความยืดหยุ่นได้เมื่อจำเป็นดังนั้นเรื่องเงื่อนเวลาที่วางไว้ถือว่าเหมาะสมกับสภาวะทั่วไปและปัจจุบัน ส่วนการประชุมนัดพิเศษนั้นต้องมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นซึ่งหากมองข้อมูลที่มีอยู่ยังอยู่ในวิสัยต่อการดำเนินนโยบาย
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปแล้วกว่า 5% แต่เป็นการอ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยอ่อนค่าต่ำกว่าประเทศอินโดนีเซีย หรือสูงกว่ามาเลเซีย
แต่โดยรวมในตลาดเกิดใหม่ เป็นการอ่อนค่า ซึ่งมาจาก 2ประเด็นคือ เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวกว่าคาดการณ์ ทำให้ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งยอมรับว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงช่วงที่ผ่านมาเป็นภาระทางการคลัง ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสูงขึ้น
แต่การเคลื่อนไหวของเงินบาทใกล้เคียงกับสกุลเงินในภูมิภาคและการแข็งค่าของดอลลาร์จึงเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้กดดันเงินเฟ้อ โดย ธปท มองแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐและหลายประเทศจะถึงจุดพีคในไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มค่าเงินจะกลับมาแข็งค่าได้ในปลายปีนี้
ทั้งนี้ ธปท.ยังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีความผันผวนผิดปกติ และพยายามจะถอนคันเร่งนโยบายการเงินนอกจากเพื่อดูแลเงินเฟ้อ แล้วอาจจะมีส่วนช่วยลดความผันผวนของเงินบาทด้วย
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.ตอบข้อถามเรื่องการส่งผ่านนโยบายการเงิน โดยระบุว่า ในแง่ตลาดพันธบัตรได้ปรับตัวขึ้นไปบ้างแล้ว
แต่ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ขยับมากนัก เพราะภาพรวมเศรษฐกิจแม้ว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่เป็นการพื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังมีความเปราะบางในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
" ธปท.จะมีการสื่อสารมาตรการทางการเงินออกมาโดยดำเนินการแพกเกจเดิมที่ทำอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่จะเพิ่มจุดเน้นมากขึ้น เช่น การดูแลภาระหนี้อย่างยั่งยืน ในกลุ่มที่ไม่มีหลักประการหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย"
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ธปท.ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เป็น 3.3% จาก 3.2% และปี 66 ปรับลดลงจาก 4.4% เหลือ 4.2% ซึ่ง เครื่องยนต์หลักคือการบริโภคเอกชนขยายตัวปีนี้ที่ 4.9% ปีหน้า 3.6% จำนวนนักท่องเที่ยวปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปีนี้จากเดิมอยู่ที่ 5.6 ล้านคนและคงประมาณการเดิมที่จำนวน 19 ล้านคนในปีหน้าและจากผลราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้ลดลง 8 พันล้านดอลลาร์จากเดิมคาด-6พันล้านดอลลาร์
" การฟื้นตัวมาจากอุปสงค์ในประเทศ และนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่ง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเห็นได้จากเครื่องชี้และจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวันเกือบ 20,000 คนซึ่งมากกว่าที่ประมาณการไว้ช่วงไตรมาส 2-3 และจับตาในไตรมาส 4 ที่ประมาณการไว้ 30,000 คนต่อวัน
ทั้งนี้ ตัวเลขจริงไตรมาสแรกแรงส่งใกล้เคียงประมาณการเดิมภายใต้ข้อสมมติฐานการฟื้นตัวช้าๆและมีความเสี่ยงด้านสูงหากรายได้ปานกลางและรายได้ปรับสูงขึ้นเร็วส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ปรับประมาณการเพิ่มเป็น 6 ล้านคนจาก5.6ล้านคนและปีหน้าอยู่ที่ 19 ล้านคนสะท้อนการฟื้นตัวดีขึ้นแม้ว่ายังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด-19
นอกจากนี้ เครื่องชี้ตลาดแรงงานปรับฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเริ่มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมา เห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงาน และผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงปรับลดลงต่อเนื่อง และแนวโน้มเรื่องรายได้ พบว่า
ทั้งกลุ่มรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูงมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น ในปีนี้และคาดว่าในปี 66 ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวดีขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจ ขณะที่ ความเสี่ยงยังคงมีอยู่โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาด
ส่วนปัจจัยที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ คืออุปสงค์ในประเทศ หากมีเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ธปท. คาดและจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 6 ล้านคนจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านเงินเฟ้อทั่วไปนั้น ธปท.ปรับขึ้นประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้มาอยู่ที่ 6.2% จากเดิมอยู่ที่ 4.9%และปีหน้าอยู่ที่ 2.5% ปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากทั้งปีนี้และปีหน้า โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 105ดอลลาร์/บาเรลและปีหน้ายังคงอยู่ในอัตราเดิม
อีกส่วนที่ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มคือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งได้รวมอยู่ในประมาณการครั้งนี้ด้วย ซึ่งการส่งผ่านต้นทุนไปยังสินค้าต่างคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ก่อนจะค่อยๆ ทยอยลดลงในไตรมาส 4ปีนี้ ,ไตรมาส 1ปีหน้า
และ ทยอยเข้าสู่กรอบเป้าหมายระยะปานกลาง( 1-3%) ช่วงกลางปีหน้า เช่นเดียวกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.0% เป็น 2.2% ในปีนี้และปีหน้าปรับเป็น 2.0% จาก เดิม 1.7%
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่าแม้ระยะสั้นเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง 1 ปีข้างหน้าจากการสำรวจจะปรับสูงขึ้น สิ่งที่มีนัยต่อนโยบายการเงินในระยะ 5 ปีข้างหน้ายังอยู่กึ่งกลางที่เป้า 1-3% โดยยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเฉลี่ย 2.1-2.3% ซึ่งการเคลื่อนไหว ไม่ได้เป็นสัญญาณที่น่าตกใจ"
ทั้งนี้กลยุทธ์นโยบายการเงินจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบระยะยาว โดยปัจจุบันทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานต้องให้ความสำคัญกับสาธารณชน ถ้าราคาจะปรับขึ้นเรื่อยๆ นโยบายการเงินอาจจำเป็นต้องถอนคันเร่งขณะความเสี่ยงของเงินเฟ้อเร่งตัวในระยะข้างหน้า