" กอบศักดิ์"แนะรับมือ 2 ความเสี่ยงรอผสมโรงซ้ำ

10 ก.ค. 2565 | 04:52 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2565 | 12:06 น.

"กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ชี้สิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง แนะติดตามรับมือ 2 ความเสี่ยงผสมโรงซ้ำเติม ชี้เริ่มมีการเดินขบวนในประเทศอื่น อาจลามอีกหลายประเทศในช่วง 2 ปีข้างหน้า

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล   กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ  ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ส่วนตัว "Kopsak Pootrakool" ว่า สิ่งที่เกิดที่ศรีลังกา อาจเกิดได้กับอีกหลายๆ ประเทศในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพราะบ่อยครั้งที่วิกฤตเศรษฐกิจ ลุกลามเป็นวิกฤตทางสังคมและการเมือง

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล   กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ  ธนาคารกรุงเทพ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อคนอดอยาก ตกงาน ไม่มีรายได้ อย่างกว้างขวาง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคมต่างๆ จะตามมา ยิ่งไปกว่านั้น  ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ลำบากขึ้นเรื่อยๆ  จากราคาอาหาร พลังงาน น้ำมัน สิ่งของต่างๆ ที่พุ่งขึ้นสูง จะนำไปสู่ความไม่พอใจในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และความไม่พอใจในรัฐบาลในที่สุด

ยิ่งประเทศไหนมีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย  ปัญหาก็สามารถลุกลามรุนแรงขึ้นไปอีกขั้น  เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศที่น้อย หมายความว่า ประเทศจะไม่สามารถดูแลค่าเงินของตนเองได้ ทำให้ค่าเงินอ่อนฮวบลง และยิ่งหากเป็นเป้าของการถูกโจมตีเก็งกำไรค่าเงินด้วยแล้ว ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้นเท่าทวีคูณ เพราะประเทศในกลุ่ม Emerging Market จำนวนมากมีเงินสำรองเพียงหยิบมือเดียว

 

อย่างศรีลังกา ก็มีอยู่แค่ 4-5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น  ในช่วงสั้นๆ ค่าเงินศรีลังกาอ่อนค่าลงมาก จาก 200 รูปีต่อดอลลาร์ เมื่อต้นมีนาคม มาเป็น 360-370 รูปี/ดอลลาร์ นับแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เงินเฟ้อจึงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 10% เมื่อปลายปีที่แล้ว มาเป็น 54.6% ในปัจจุบัน  แต่ปัญหาไม่ใช่เพียงแค่ข้าวของแพงมาก แม้กระทั่งจะสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ไม่มีเงิน ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้า อาหาร พลังงาน คนต้องอยู่กันอย่างกระเบียดกระเสียด นำไปสู่ความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อรัฐบาลที่ครองอำนาจ

 

ตอนแรกเริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ และผู้ชำนาญการต่างๆ  แต่ด้วยความโกธรแค้นของประชาชน ที่จะสะสมตัวขึ้นเรื่อยๆ จากความหิว ความอดอยาก ความลำบาก  สุดท้ายปะทุขึ้นเป็นการประท้วง การเดินขบวน การขับไล่รัฐบาล การเผชิญหน้าที่อาจจะลุกลามรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน บานปลายกลายเป็นวิกฤตทางการเมือง ที่ทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลและประเทศในที่สุด

 

“อยากจะบอกว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง" เพราะขณะนี้ เริ่มมีการเดินขบวนในประเทศอื่นเช่นกัน กาน่า เปรู ปากีสถาน เอควาดอร์ ซิมบับเว้ อาร์เจนตินา ขบวนใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ได้เริ่มขึ้นแล้ว  ซึ่งเมื่อคิดไปถึงความเสี่ยงที่รอเราอยู่ในช่วงถัดไป

  1. วิกฤตอาหารโลก Global Food Crisis ที่จะลุกลามขึ้น โดยเฉพาะในฤดูกาลเก็บเกี่ยวถัดไป จากปัญหาปุ๋ยราคาแพง ซึ่งทำให้เกษตรกรทั่วโลกจำเป็นต้องประหยัดการใช้ปุ๋ยไปบางส่วน และจะส่งผลต่อไปยังผลผลิตที่จะออกมา ก็ต้องสรุปว่า ปัญหาการขาดแคลนอาหารของโลก มีแต่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น
  2. ฐานะเศรษฐกิจที่อ่อนแอของหลายประเทศใน Emerging Markets  ที่นักลงทุนโลกพร้อมผสมโรงซ้ำเติม ด้วยการการดึงเงินออก การไม่ปล่อยกู้ยืม และการโจมตีเก็งกำไรค่าเงินในที่สุด

 

ตารางข้างล่างจาก Bloomberg แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ขณะนี้ เรดาห์ของนักลงทุนกำลังจับจ้องอยู่ที่ใคร เอลซาวาดอร์ กาน่า ตูนิเซีย ปากีสถาน อียิปต์ เคนย่า อารเจนติน่า ยูเครน เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น  

\" กอบศักดิ์\"แนะรับมือ 2 ความเสี่ยงรอผสมโรงซ้ำ

 

ครั้นเมื่อคนเริ่มมีความกังวลใจเกี่ยวกับ Emerging Markets ทั้งหมด มากขึ้นเรื่อยๆ  เงินทุนจะเริ่มไหลออกจากกลุ่มนี้  ทำให้หลายประเทศกู้ยืมได้ยากขึ้น เงินสำรองระหว่างประเทศของหลายประเทศ จะรั่วไหลลดลงจนเข้าสู่ระดับวิกฤต นำไปสู่ปัญหาค่าเงิน ปัญหาการนำเข้าสินค้า ปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง

 

ทั้งหมดนี้ หมายความว่า "มรสุมของวิกฤตใน Emerging Markets" กำลังรอเราอยู่ข้างหน้า พร้อมพัดวน สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อาจลุกลาม นำไปสู่การประท้วง การเผชิญหน้า บานปลายกลายเป็นวิกฤตการเมืองของรัฐบาลในอีกหลายประเทศ ดังเช่นที่เห็นในศรีลังกา ครับ