ดอลลาร์สหรัฐที่ดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดใกล้แตะระดับ 1:1 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน หลังยุโรปเผชิญกับวิกฤตพลังงาน จากการที่รัสเซียประกาศจะยุติการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม 1” (Nord Stream1) ให้กับยุโรปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ซึ่งท่อดังกล่าวเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายังเยอรมนีผ่านทางทะเลบอลติก
แม้ว่าบริษัท นอร์ดสตรีม(Nord Stream AG) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่อส่ง Nord Stream 1 ยืนยันว่า บริษัทจะปิดท่อส่งดังกล่าวในวันที่ 11 กรกฎาคม เพื่อทำการซ่อมบำรุงจนถึงวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ แต่มีความวิตกกันว่า แม้เมื่อ Nord Stream 1 เสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงในวันที่ 21 กรกฎาคม รัสเซียก็จะยังคงตัดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปอยู่ดี
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้เศรษฐกิจยุโรปโดนหางเลขจากการขาดแคลนพลังงานครั้งใหญ่ จากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เนื่องจากยุโรปพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างสูงเช่น ก๊าซธรรมชาติ 41.1% และถ่านหิน 46.7% ส่งผลให้ต้นทุนราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป และอาจลุกลามไปยังคู่ค้าหลักทั่วโลก
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปีเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้คาดว่า จะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจยุโรปให้ซบเซาลงไปอีก
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มสกุลเงินยูโรยังมีปัจจัยในฝั่งอ่อนค่าได้อีกในช่วงที่เหลือ หลังจากยูโรแตะ 1.0005 ดอลลาร์ต่อยูโรในช่วงเช้าวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 19 ปี 6 เดือนเมื่อเทียบกับ 0.9970 ดอลลาร์ต่อยูโร ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2545
ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1.0025 ดอลลาร์ต่อยูโร โดยอ่อนค่าลง 11.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 1.1325 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งการอ่อนค่าของยูโรทำให้ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน(ยูโร, เยน,ฟรังส์สวิส,ดอลลาร์ออสเตรเลีย,ดอลลาร์แคนาดา) ปรับตัวดีขึ้น
“สถานการณ์สกุลเงินยูโรร่วงลงมาใกล้เคียงดอลลาร์นั้น เพราะคนมีความกังวลภาวะเศรษฐกิจยูโรจะถดถอย ซึ่งหากเศรษฐกิจยุโรปถดถอยชัดเจน โอกาสที่เงินยูโรจะหลุดลงไปอีก เพราะยังมีแรงกดดันมากกว่านี้ทั้งสัญญาณเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ” นางสาวกาญจนกล่าว
ทั้งนี้เมื่อเทียบเงินบาทต่อยูโรนั้นอยู่ที่ระดับ 36.41 บาทต่อยูโร โดยเงินบาทแข็งค่า 3.2%เทียบกับยูโรจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 37.59 บาทต่อยูโร แต่เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า 7.8% ซึ่งปัจจุบันตลาดจับตาอีซีบีว่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูง 8.8% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาและตลาดคาดว่า มีโอกาสเห็นเงินเฟ้อยุโรปเดือนเดือนมิถุนายนจะแตะ 8.8%
ส่วนขั้นตอนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบีนั้น ยังมีแรงกดดันที่ต้องเผชิญอีกมาก โดยอัตราดอกเบี้ยอีซีบีมี 3 ตัวได้แก่ 1.ดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์หรือ Main refinancing operations (fixed rate) อยู่ที่ 0.0% 2. ดอกเบี้ยเงินกู้หรือ Marginal lending facility อยู่ที่ 0.25 % และ 3. ดอกเบี้ยเงินฝากที่สถาบันการเงินจ่ายแก่อีซีบีหรือ Deposit facility อยู่ที่ -0.50% โดยทั้ง 3 ตัวนี้จะปรับเพิ่มและปรับลดลงพร้อมกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์
“Step การปรับขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบีอาจจะไม่สามารถทำได้มากเหมือนกับเฟด สาเหตุจากความไม่พร้อมของภาวะเศรษฐกิจของยุโรปเองและเงินเฟ้อยังสูง แต่เมื่อเทียบเงินบาทกับยูโรแล้ว เงินบาทยังแข็งค่า ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกที่รับชำระค่าสินค้าเป็นสกุลยูโรต้องป้องกันความเสี่ยง เพราะเงินบาทมีโอกาสแข็งค่า” นางสาวกาญจนากล่าว
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า ทั่วโลกกำลังจับตาเศรษฐกิจยุโรป โดยมีความกังวลต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนี อายุ 2 ปีอยู่ที่ 0.4% จาก 1 เดือนที่แล้วอยู่ที่ 1.1% สะท้อนความกังวลคนลดความคาดหวังอีซีบีจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแย่ลง ทำให้ส่วนต่างบอนด์ยิลด์ห่างไปเยอะมาก
“การอ่อนค่าของยูโร นอกจากความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยแล้ว แนวโน้มดอลลาร์แข็งค่า รวมถึงตลาดยังกังวลต่อจีนอาจจะล็อกดาวน์ ขณะที่บอนด์เยอรมันปรับลด ซึ่งแนวโน้มตลาดมองเงินยูโรมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 0.96-0.97 ดอลลาร์ต่อยูโรในไตรมาส3 ปีนี้และดอลลาร์อาจจะแข็งค่าที่สุดในจังหวะเดียวกัน ส่วนจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าอัตราไหนนั้นขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศ ส่วนยูโรมองว่า สิ้นปีจะกลับมาอยู่ที่ 1.05 ดอลลาร์ต่อยูโรได้จากอีซีบีต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วเพื่อดูแลเงินเฟ้อ” นายพูนกล่าว
สำหรับปัจจัยกดดันก่อนจะถึงไตรมาส 3 หลักๆ คือ เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ ถ้าเห็นจีนล็อกดาวน์มีโอกาสเห็นเงินบาทหลุด 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ ขณะที่ยุโรมีความเสี่ยงจากการขาดพลังงานในช่วงหน้าหนาว เนื่องจากการหาทางออก โดยการนำเข้าพลังงานจากแหล่งอื่นแต่ไม่สามารถชดเชยพลังงานจากรัสเซีย
นายภิสัก อึ้งถาวร ผู้บริหารฝ่ายวิจัยตลาดเงินและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)กล่าวว่า เงินยูโรเทียบดอลลาร์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.0028 ยูโรต่อดอลลาร์วันนี้ (12 กรกฎาคม) ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2545 ที่เงินยูโรเท่ากับค่าเงินดอลลาร์อีกครั้ง หลักๆ เป็นผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยเฉพาะความกังวลเรื่องวิกฤตพลังงานในยุโรป หลังรัสเซียได้ประกาศปิดซ่อมท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 จนถึงวันที่ 21 ก.ค. นี้
“ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY index) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 108.3 สูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี หลังจากตลาดยังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ ยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ในขณะที่ ธนาคารกลางยุโรปยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยเลยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา” นายภิสักกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565