อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเกิน 7% ในเดือนมิถุยายน 2565 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองและทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง ท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่าที่ตลาดคาดของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 4 ของปีในวันที่ 10 สิงหาคม เป็นที่จับตาและคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%
จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางของประเทศที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นแล้วคือ สหรัฐอเมริกา 1.5% นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแคนาดา 1.25% อังกฤษ 1% และเกาหลีใต้ 0.75% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ หลายธนาคารกลางปรับขึ้นครั้งละ 0.5-0.75% มากกว่าปกติที่ปรับขึ้นลงครั้งละ 0.25% จากความกังวลว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าไป จะทำให้เงินเฟ้อค้างสูงเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาเงินเฟ้อยากขึ้น
แรงกดดันต่อกนง.จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะรู้ดีว่า การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อในครั้งนี้มาจากภาคอุปทานเป็นหลัก (Cost-push) ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเสถียรภาพด้านราคา ก็เพื่อหวังผลชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากภาคอุปสงค์(Demand-pull)
ล่าสุดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกมาระบุว่า การดูแลเงินเฟ้อถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศและธปท. แต่การดูแลเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นดอกเบี้ยในยามจำเป็นและต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะ บริบทเศรฐกิจประเทศพัฒนาแล้วต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว เร็ว แรง และอยู่ในช่วงหนึ่งของเศรษฐกิจ over heat ขณะที่เศรษฐกิจไทยถือว่า เพิ่งเริ่มฟื้นตัว
“โจทย์ของต่างชาติคือ ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจ soft landing แต่โจทย์ของเราคือ ทำให้การฟื้นตัวมันไปได้ต่อเนื่อ เป็นเรื่อง Smooth take off ให้ take off ได้อย่างไม่สะดุด ดังนั้นนโยบายการเงินทางฝั่งดอกเบี้ย ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โจทย์เราคือ การถอนคันเร่ง ไม่ใช่แบบที่เห็นในเมืองนอกที่ต้องเหยียบเบรกแรง”นายเศรษฐพุฒิกล่าว
แรงกดดันอีกทางที่ต้องการให้กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ใช่แค่ การสกัดเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังต้องการสกัดการไหลออกของเงินทุนระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนจากตัวเลขในตลาดตราสารหนี้จากแต่ต้นปี 2565 ถึง 11 กรกฎาคม 2565 พบว่า มีเงินไหลออกสุทธิจากตลาดตราสารหนี้ไทย 2.75 พันล้านบาทเทียบกับปี 2564 ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.42 แสนล้านบาท ขณะที่ในตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสะสม 1.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ซื้อสุทธิเพียง 5.06 หมื่นล้านบาท
เงินทุนระยะสั้นที่ไหลออก ส่วนหนึ่งจากความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง มีเป้าหมายหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยเฟดล่าสุดอยู่ที่ 0.50-1.75% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.50% ซึ่งเป็นอัตราคงที่มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
นักลงทุนยังคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อไป หลังจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากการแห่ซื้อของนักลงทุนในฐานะที่ดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องกดดันต่อค่าเงินในสกุลอื่นๆ ทั่วโลกที่ล้วนอ่อนค่าลงทั้งนั้น โดยที่อ่อนค่ามากสุดน่าจะเป็นเยน ญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลงถึง 16.1% รองลงมาเป็นปอนด์สเตอร์ลิง อ่อนค่าลง 11.4% และยูโรที่อ่อนค่าลง 10.8% ใกล้แตะระดับ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร
ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าประมาณ 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี มากที่สุดในรอบ 7 ปีทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ จนก่อให้เกิดความกังวลที่จะทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปซ้ำเติมกับการขาดดุลงบประมาณกลายเป็นขาดดุลแฝด ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยฝันร้ายที่จะทำให้เงินบาทต้องอ่อนค่ายาวและสะท้อนเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมีความแข็งแกร่งน้อยลง
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565