ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ไตรมาส 2/65 แบงก์กำไรลดเหลือแค่ 4.61 หมื่นล้าน

15 ก.ค. 2565 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2565 | 16:01 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินรายได้ธุรกิจหลักธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/65 ยังคงอ่อนแอ เหตุความเปราะบางเศรษฐกิจกดดันรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ตลาดหุ้นผันผวนกระทบพอร์ตลงทุน ขณะที่ NIM ขยับขึ้นเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อ คาดไตรมาส 2/65 แบงก์กำไรสุทธิ 4.61 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้จากธุรกิจหลักของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธ.พ. ไทย 18 แห่ง) ในไตรมาส 2/2565 ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ซึ่งถูกกดดันจากความเปราะบางของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากความผันผวนของตลาดทุน ซึ่งประเมินว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไตรมาส 2/2565 จะอยู่ที่ 4.61 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน

 

ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้น อาจขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยตามการเติบโตของสินเชื่อที่คาดว่าจะเติบโตในกรอบ 5.7-6.0% YoY นำโดย สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย(Net Interest Margin: NIM) มีแนวโน้มขยับขึ้นมาที่ 2.58% ในไตรมาสที่ 2/2565 จาก 2.55% ในไตรมาสแรกของปี

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง แม้แรงกดดันต่อธุรกิจหลักอาจผ่อนคลายลงบางส่วนหากเศรษฐกิจทยอยมีสัญญาณดีขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงมีโจทย์ต่อเนื่องในการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางภายใต้สถานการณ์ที่แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศอาจเริ่มขยับขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะแรกของธนาคารพาณิชย์ปรากฏขึ้นในผลิตภัณฑ์สินเชื่อและเงินฝากเพียงบางประเภท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ไตรมาส 2/65 แบงก์กำไรลดเหลือแค่ 4.61 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม การทยอยคลายล็อกมาตรการโควิด จะช่วยหนุนสัญญาณเศรษฐกิจและสินเชื่อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทบทวนตัวเลขคาดการณ์สินเชื่อของระบบธ.พ. ไทยในปี 2565 มาที่ 5.0% (ภายใต้กรอบ 4.0-5.5%) จากคาดกาณณ์เดิมเมื่อเดือนมี.ค. 2565 ที่ 4.5% เนื่องจากการเบิกใช้สินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่องของภาคธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาและน่าจะมีแนวโน้มความต้องการสินเชื่อต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี

ส่วนของสินเชื่อธุรกิจเติบโตในกรอบ 5.0-6.5% ชะลอลงเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 2564 ที่เติบโต 7.8% นอกจากอานิสงส์จากสัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังมีแรงหนุนในส่วนของสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือ Working Capital ที่เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนอื่นๆ ในการผลิตสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี สินเชื่อรายย่อยอาจเผชิญข้อจำกัดการเติบโตตามสถานะที่เปราะบางของภาคครัวเรือนไทย ทำให้ขยายตัว 3.0-4.0% ทรงตัวเมื่อเทียบกับ 4.0% ในปี 2564

 

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยยังขึ้นอยู่กับจังหวะการปรับดอกเบี้ย โดยแม้วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอาจเริ่มขึ้นในรอบการประชุมเดือนส.ค. 2565 เพื่อดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อ แต่ด้วยสภาพคล่องของระบบธ.พ. ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และปัญหาของลูกหนี้อีกว่า 1.6 ล้านบัญชีหรือ คิดเป็นสัดส่วนภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือประมาณ 12.1% ของสินเชื่อรวม ที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและยังไม่ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

 

ดังนั้นจึงอาจทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะแรกของธนาคารพาณิชย์ปรากฏขึ้นในผลิตภัณฑ์สินเชื่อและเงินฝากเพียงบางประเภท อาทิ เงินฝากประจำระยะยาวและสินเชื่อที่มีระยะเวลาการผ่อนค่อนข้างยาว อาทิ การยกเลิกแคมเปญดอกเบี้ยคงที่สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการทยอยลดการแข่งขันด้านราคาในผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย

 

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปคงขึ้นอยู่กับจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนการเตรียมรับมือกับการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Fee) ในช่วงต้นปี 2566

 

ด้านรายได้ค่าธรรมเนียม แม้มีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังตามทิศทางเศรษฐกิจ แต่โจทย์ทางการไทยในการเพิ่มการแข่งขันและดูแลผู้บริโภคอาจทำให้แนวโน้มการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมยังค่อนข้างจำกัดในระยะถัดไป เช่นค่าธรรมเนียมเงินโอนระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้โมเดลธุรกิจของการให้บริการทางการเงินดิจิทัลยังคงต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในระดับบุคคลอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ไตรมาส 2/65 แบงก์กำไรลดเหลือแค่ 4.61 หมื่นล้าน

ขณะที่การรุกธุรกิจตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลอาจเผชิญประเด็นด้านความเชื่อมั่น ซึ่งในอีกด้านหนึ่งย่อมสะท้อนถึงบททดสอบสำคัญในการเติบโตของการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ ดังัน้นด้วยภาพที่ท้าทายต่างๆ จึงทำให้คาดว่า ภาพรวมของกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนการกันสำรองและภาษีเงินได้)ปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 4.01-4.03 แสนล้านบาท ยังไม่กลับไปสู่ระดับค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีก่อนวิกฤตโควิด-19 แม้จะเข้าใกล้มากขึ้นก็ตาม

 

ขณะที่สัดส่วนหนี้เข้ามาตรการคงทยอยลดลงสู่เลขหลักเดียวในช่วงปลายปี แต่โจทย์การแก้หนี้ยังอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่จะดำเนินการไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพราะคงต้องยอมรับว่า หนี้ที่ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือของสถาบันการเงินจะเป็นหนี้ที่มีความซับซ้อนในการแก้ไขมากกว่าปกติ

 

อย่างไรก็ดี จากการที่มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2566 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น คงต้องมาวัดสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยในระบบอีกครั้งว่าจะยังอยู่ในสภาพที่เกื้อหนุนการปรับโครงสร้างหนี้อีกหรือไม่ ซึ่งในระหว่างนี้ ธนาคารพาณิชย์คงผ่อนระดับการกันสำรองลงได้บ้างจากที่เร่งสำรองไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า

 

สำหรับแนวโน้มสัดส่วน NPL ในปี 2565 คาดการณ์ไว้ในกรอบ 2.95-3.05% ใกล้เคียง 2.98% ในปี 2565 ซึ่งสะท้อนการจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุก ที่จะดำเนินการควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสินทรัพย์รอการขายที่เพิ่มขึ้น (ณ พ.ค. 2565 มียอดคงค้างที่ 1.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท