ระดับหนี้ครัวเรือนไทยที่ทรงตัวในระดับสูง ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 สูงถึง 14.65 ล้านล้านบาท ถือเป็นจุดเปราะบางและระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย หลังจากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้ประเทศต่างๆต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ทำให้เริ่มกังวลถึง ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำลังหารือกับธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ เพื่อขอความร่วมมือแต่ละสถาบันการเงินนำเสนอหลักเกณฑ์ แนวทาง เงื่อนไขที่เป็นไปได้จริงสำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยรวมสินเชื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ บัตรพลาสติก เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์พิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ประมาณกลางเดือนกันยายน ปีนี้
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทยในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทั้งความเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อสูง จึงเป็นความท้าทายต่อเนื่องและยาว เพราะหลังออกจากการระบาดของโควิด-19 ต้องเจอกับอีกวิกฤต ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบกับลูกหนี้และกิจกรรมของธนาคาร
ทั้งนี้ยอมรับว่า เมื่อเจอพายุลูกใหม่ ภายใต้อัตราเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยอ่อนไหวกับผู้มีรายได้น้อยหรือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งภาคธนาคารอยู่ในช่วงที่ต้องประคองลูกหนี้ต่อเนื่องและยาวขึ้นทั้งธุรกิจและรายย่อย
“เรากำลังหารือแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ไม่มีมาตรการใหม่ เพราะธปท.มีมาตรการให้เป็นเครื่องมือครบแล้ว ต้องนำไปใช้ต่อเนื่องขึ้น โดยเน้นปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระสอดคล้องกับรายได้และรายจ่าย เพราะต้นทุนที่สูงในช่วงเวลาดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น” นายพยงกล่าว
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ของธปท.ที่จะจัดกลางเดือนกันยายนนี้ รูปแบบงานจะเป็นออนไซด์ (ลงพื้นที่หน้างาน) 2 วัน เพื่อให้ลูกหนี้ได้พบเจ้าหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงาน เพราะท่านมอบหมายการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เป็นวาระแห่งชาติในปีนี้ จากนั้นให้ลูกหนี้มีเวลาในการลงทะเบียนออนไลน์นาน 2 เดือน
ส่วนสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ช่วงครึ่งแรกปีนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า ปีที่แล้วแบงก์เจ้าหนี้กังวลกลุ่มท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะในภูเก็ตสัญญาณดีขึ้น แต่กลุ่มมนุษย์เงินเดือน คนทำงานหมุนเงินไม่ทัน เพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้จะมีทั้งรายเก่าที่แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้แล้วไหลกลับมาเป็นหนี้อีกรอบ(Re-entry) และลูกหนี้รายใหม่ที่มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับรายจ่าย ซึ่งในหลักการทุกสถาบันการเงินยังยึดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวตามนโยบายของธปท.
ขณะที่ลูกหนี้เช่าซื้อกลุ่มที่มีปัญหาได้เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว หากไม่สุดวิสัยทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะไม่เน้นยึดรถ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้เช่าซื้อราว 6 ล้านคันจากยอดขายรถปีละ 1 ล้านคัน มีเอ็นพีแอลราว 1.5%หรือสูงสุด 90,000 คันแต่ประมาณ 50% สถาบันการเงินเน้นปรับโครงสร้างหนี้
ด้านนางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจ เบื้องต้นจะจัดงานใหญ่อีกครั้งคือ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ที่อิมแพค เมืองทอง ซึ่งกรมบังคับคดีได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินในการพิจารณาหรือเสนอเงื่อนไขพิเศษ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถได้ข้อยุติในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สามารถยื่นต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการได้ โดยกรมบังคับคดีและสถาบันการเงินร่วมกันให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายล้มละลายในภายในงานมหกรรมดังกล่าวด้วย
“มองว่าลูกหนี้ทุกคนยังได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเน้นจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ 4 วัน โดยอยากช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ให้ได้ 100,000 ราย จึงพยายามเชิญลูกหนี้ทุกประเภทเข้าร่วมให้ได้อย่างน้อย 30% จากลูกหนี้ 10,000 ราย เพราะที่ผ่านมาแม้กระบวนการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 99% จากลูกหนี้ 100 ราย แต่ในแง่ของจำนวนลูกหนี้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรมยังไม่มากเท่าที่ต้องการ” นางทัศนีย์กล่าว
นายคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าว่า แนวโน้มค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ลูกค้ายังมีความต้องการใช้เงินต่อเนื่อง ซึ่งในแง่การอนุมัติสินเชื่อต้องมั่นใจว่า แนวโน้มผู้กู้จะมีกำลังความสามารถในการชำระคืนด้วย โดยอัตราการอนุมัติสินเชื่อใหม่ยังคงอยู่ที่ 80%
“ตอนนี้ทุกคนเฝ้าดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนอย่างมาก ธปท.ทำโฟกัสกรุ๊ปว่า ทุกคนมองอย่างไร หรือเป็นปัญหาหรือเปล่า แต่ส่วนตัวไม่กังวล จากกระบวนการพิจารณาสินเชื่ออย่างรอบคอบ ทำให้สัญญาณผ่อนชำระยังปกติ ไม่ส่งผลต่อการผ่อนชำระค่างวด” นายคงสินกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,803 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565