คลัง มั่นใจ GDP ปี 65 ยังโต 3.5% จากแรงหนุนมาตรการรัฐครึ่งปีหลัง

26 ก.ค. 2565 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2565 | 14:32 น.

คลัง คงตัวเลข GDP ปี 65 ยังโตได้ 3.5% จากแรงหนุนภาคท่องเที่ยว การใช้จ่ายภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะทยอยออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมจับตาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ กระทบเศรษฐกิจ

นายพรชัย ฐีรเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยประมาณการณ์เศรษฐกิจไทย หรือ GDP ทั้งปี 65 ขยายตัวได้ 3.5% ซึ่งคงที่จากประมาณการณ์เดิมในช่วงเดือนเมษายน 65 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่จะทยอยออกมาในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่ 3.5% นั้น ภายใต้สมมติฐาน ที่คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ 15 ประเทศ GDP โดยรวมจะลดลงเหลือ 3.3% จากเดิมในเดือนเมษายน 65 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% จากคาดว่าประเทศคู่ค้า 12 ประเทศ GDP จะปรับลดลง โดยเฉพาะสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป กระทบต่อการส่งออกทั้งปีลดลงเหลือ 8.6% จากปี 64 ที่ขยายตัวได้ 10.4%

ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอ่อนค่าอยู่ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงจากปี 64 ที่ 8.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 102 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี อยู่ที่ 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่ 4 แสนคน และรายจ่ายภาคสาธารณะ อยู่ที่ 4.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปี คาดอยู่ที่ 6.5%

 

นายพรชัย ยังกล่าวถึง ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ว่า ขณะนี้ทางผู้ว่าแบงก์ชาติของไทยได้ส่งสัญญาณถึงทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมาแล้ว รวมถึงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ผ่านมา ก็พบว่าเสียงปริ่มน้ำที่จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ ดังนั้นจึงยังต้องรอผลการประขุม กนง. ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้อีกครั้ง

 

“สัญญาณที่ส่งมาอย่างต่อเนื่องถึงทิศทางของดอกเบี้ยขาขึ้น เชื่อว่าสถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือถึงแผนบริหารต้นทุนเพื่อไม่ให้เงินไหลออก รวมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อไม่ให้กระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อ และที่ผ่านมาภาคเอกชนก็ได้มีการออกหุ้นกู้สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อลดต้นทุน ฉะนั้นเอกชนมีการรับรู้แล้ว ส่วนด้านลูกค้าแบงก์ ก็เชื่อว่าแต่ละแบงก์จะค่อยๆปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะแบงก์รัฐ” นายพรชัย กล่าว

 

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลัง 65 ที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด คือ 1) ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังอัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องและภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว

 

3) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต และ 4) เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศหลักและประเทศจีน ประกอบกับหากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศจีนยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ก็จะส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) และส่งผลเชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตและการค้าทั่วโลก