หลังประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มศรีสวัสดิ์ ด้วยการปรับกลยุทธิ์หลักของบริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ถือหุ้นอยู่ 81.6% ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565
นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงสร้างใหม่จะทำให้เกิดการแยกธุรกิจอย่างชัดเจน โดย SAWAD จะดูแลธุรกิจจำนำเป็นหลัก ขณะที่ BFIT จะรุกธุรกิจด้านสินเชื่ออื่นๆ อาทิ ธุรกิจเช่าซื้อทุกประเภทแบบครบวงจร และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เน้นลูกค้าที่ต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ โดยปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ 5-7 พันล้านบาท และตั้งเป้าปีนี้จะปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่ให้ได้ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์หลากหลายประเภทและยี่ห้อ มีระยะเวลาการให้สินเชื่อตั้งแต่ 12-60 งวด อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 30% และให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 58,000 บาทต่อคัน
ส่วนกรณีที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) อยู่ระหว่างการหารือการนำธุรกิจให้เช่าชื้อ (ลิสซิ่ง) เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาเช่าซื้อด้วยการกำหนดเพดานดอกเบี้ยนั้น นางสาวธิดากล่าวว่า เท่าที่ทราบก็ยังไม่มีข้อสรุปว่า สคบ.จะกำหนดเพดาดอกเบี้ยของธุรกิจเช่าซื้อเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะอัตราไหน บริษัทก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม และต้องไปบริหารความเสี่ยงเอง
นอกจากนั้น BFIT ยังจะให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย เพราะสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังคงเติบโตขึ้นในทุกประเภท จึงเป็นโอกาสของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังมีโอกาสในการเติบโตอย่างมาก
ส่วนกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้จัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “เปิดกลลวงบริษัทสินเชื่อ” โดยอ้างอิง SAWAD นั้นบริษัทฯ จะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสคบ. หลังจากที่สคบ.ได้ทำหนังสือสอบถามเข้ามา และจะไปชื้แจงกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในสัปดาห์หน้าด้วย เพราะในประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมีประเด็บการบังคับการทำประกันภัยด้วย
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการทำประกันภัยนั้น บริษัทยืนยันว่า ไม่เคยบังคับขายประกันภัย เพียงแต่รูปแบบการให้สินเชื่อนั้นจะจัดเป็นแพกเกจไว้ เพื่อความรวดเร็วของลูกค้า ซึ่งก็จะมีทั้งที่ให้ซื้อประกันภัยและไม่ให้ซื้อประกันภัย ซึ่งลูกค้าที่มีกว่า 1 ล้านราย ก็มีกว่าครึ่ง หรือ 5 แสนรายที่ได้เงินกู้ไป โดยที่ไม่ได้ซื้อประกันภัย
“เราจัดแพกเกจการปล่อยกู้เป็นชุดไว้ให้ลูกค้าเลือก อาจจะมีเรื่องการสื่อสารผิดพลาดบ้าง พนักงานดูแลไม่ดี เพราะสาขาเรามีกว่า 5 พันสาขาทั่วประเทศและจำนวนพนักงานกว่า 1.5 หมื่นคนและการปล่อยสินเชื่อเราเน้นความรวดเร็วไม่ได้ตรวจสอบเครดิตบูโร ไม่มีบุคคลค้ำประกัน แค่มาหาเราพร้อมโฉนดที่ดิน ก็สามารถได้เงินกู้ได้ได้เลย เพราะเราเชื่อว่ามีสินทรัพย์อยู่แล้ว” นางสาวธิดากล่าว
ขณะที่การปล่อยสินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนองนั้น เป็นการปล่อยกู้แบบคลีนโลน คือ ลูกค้าไม่ต้องโอนหรือจดจำนองที่ดินแต่อย่างใด ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถยึดหลักประกันได้ โดยจะปล่อยกู้ตามมูลค่าหลักประกันประมาณ 20-30% สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย
ส่วนประเด็นที่มีการโฆษณาว่าจะไม่คิดค่าธรรมเนียมนั้น เป็นกรณีที่มีการกู้เกิน 12 เดือนจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่รายที่ร้องเรียนนั้นเป็นการทำธุรกกรม 6 เดือน จึงถูกคิดค่าธรรมเนียมไปด้วย
สำหรับประเด็นที่มีการคิดดอกเบี้ย 24% ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นั้นอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของลูกค้า เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หรือ effective rate ทำให้ลูกค้าจะไม่ได้รับเงินกู้เต็มจำนวน เพราะจะมีการหักดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายออกจากเงินกู้ ทำให้ลูกค้าไม่มีภาระในการหาเงินมาจ่ายก่อน แต่ก็อาจทำให้ลูกค้าเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
“หลังเกิดปัญหาร้องเรียน เราพยายามที่จะติดต่อลูกค้า เพื่อทำความเข้าใจ แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวลูกค้าได้เลย แต่ด้วยปณิธานในการดำเนินธุรกิจว่า บริษัทจะให้บริการสินเชื่อโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุดตามเงื่อนไขของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบริษัทเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับบริการสินเชื่อได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับราคาตลาด” นางสาวธิดากล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,808 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565