ก.ล.ต.เตือนลงทุนหุ้นกู้ ต้องศึกษา ติดตาม และใช้สิทธิ

17 ส.ค. 2565 | 07:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 15:01 น.

ก.ล.ต.เตือนลงทุนหุ้นกู้ แม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น และมีจุดเด่นให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก แต่ก่อนจะลงทุน ควรศึกษา ทำความเข้าใจลักษณะของหุ้นกู้ ความเสี่ยงที่เหมาะสมกับที่ตนเองรับได้ ต้องติดตามหลังการลงทุน และใช้สิทธิเมื่อเกิดเหตุการณ์

ฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ระบุในบทความว่า  หุ้นกู้ถือว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนโดยทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันกลับมีผู้ลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอยู่เพียง 1.37 แสนรายเท่านั้น (โดยเฉลี่ยแล้วมีการถือหุ้นกู้ประมาณ 4 รุ่นต่อราย ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะการขายหุ้นกู้ที่มีการกำหนดมูลค่าขายขั้นต่ำเป็นมูลค่าสูง ผลตอบแทนอาจไม่สูงเมื่อเทียบกับหลักทรัพย์ชนิดอื่น และมักจะมีการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นหลัก

 

เนื่องจากลักษณะเด่นของหุ้นกู้ คือ การให้ผลตอบแทนที่แน่นอน สม่ำเสมอ และมักมีอัตราที่สูงกว่าเงินฝาก ดังนั้น หุ้นกู้จึงเป็นหลักทรัพย์ที่นิยมสำหรับกลุ่มผู้ลงทุนวัยใกล้เกษียณ หรือวัยเกษียณ เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินออมและลงทุนไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่งจากสถิติจะเห็นได้ว่า ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดตราสารหนี้เอกชนของไทยจะเป็นผู้สูงวัย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 62 (จำนวน 85,248 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565) นอกจากนี้ หากรวมการถือครองตราสารหนี้ของกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กับกลุ่มผู้ลงทุนวัยใกล้เกษียณที่มีอายุ 50 – 60 ปี จะเห็นได้ว่ากลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 70 อีกทั้งเมื่ออายุมากขึ้นจำนวนตราสารที่ถือครองโดยเฉลี่ยต่อรายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ก.ล.ต.เตือนลงทุนหุ้นกู้ ต้องศึกษา ติดตาม และใช้สิทธิ
 

 

 

อย่างไรก็ดี หุ้นกู้โดยทั่วไปที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ investment grade มักจะมีลักษณะที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ มีผลตอบแทนคงที่และสม่ำเสมอ แต่ก็มีหุ้นกู้บางประเภทที่อาจต้องถือครองไปตลอดชีวิต ไม่มีวันครบกำหนดไถ่ถอน โดยมีการให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน หรือตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีเงื่อนไขแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ลดมูลค่า หรือ ปลดหนี้ได้ โดยผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวมีสิทธิในการได้รับชำระหนี้ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญ ดังนั้น ก่อนจะลงทุนหุ้นกู้ ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจในลักษณะของหุ้นกู้ที่จะลงทุน รวมถึงพิจารณาความเสี่ยงที่เหมาะสมกับระดับที่ตนเองสามารถยอมรับได้

 

ศึกษาก่อนการลงทุน

 

แม้ว่าหุ้นกู้ทั่วไปอาจจะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าหลักทรัพย์อื่น ๆ เช่น หุ้น เป็นต้น รวมถึงผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิที่จะได้เงินคืนเป็นลำดับต้น ๆ แต่ผู้ลงทุนก็ควรศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลของหุ้นกู้ทุกครั้งก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสามารถดูได้จากหนังสือชี้ชวน แบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร หรือ factsheet ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และงบการเงิน เพื่อให้ทราบข้อมูลว่าบริษัทผู้ออกเป็นใคร อยู่ในอุตสาหกรรมใด หุ้นกู้ที่จะลงทุนมีลักษณะอย่างไร มีการค้ำประกันหรือไม่ มีลักษณะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือไม่ พิจารณาอายุและอัตราดอกเบี้ย เงินที่ระดมทุนได้จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด สถานะทางการเงินและอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งของบริษัทผู้ออกและหุ้นกู้ที่จะลงทุนเป็นอย่างไร

 

นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังต้องให้ความสนใจกับความเสี่ยงของหุ้นกู้ และควรประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง ซึ่งความเสี่ยงที่สำคัญของการลงทุนในหุ้นกู้ ได้แก่ 

 

  • (1) ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ เช่น อาจไม่ได้รับชำระดอกเบี้ย หรือเงินต้นคืน ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกไม่เป็นไปตามที่คาด เป็นต้น ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BB+ ลงมา หรือหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต มักจะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง จึงให้ผลตอบแทนสูงตามไปด้วยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หุ้นกู้กลุ่มนี้จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ในระดับสูง 

 

  • (2) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เช่น ไม่สามารถขายหุ้นกู้ก่อนครบกำหนด เนื่องจากการซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นกู้ในตลาดรองอาจมีไม่มาก หรือบางตัวแทบจะไม่มีสภาพคล่องเลยในตลาดรอง

 

  • (3) ความเสี่ยงด้านราคา ในกรณีที่มีการขายหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดการไถ่ถอน อาจไม่สามารถขายได้ในราคาที่ต้องการ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และอายุของหุ้นกู้ เป็นต้น

 

เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลการออกและเสนอขายตราสารหนี้ได้ง่ายขึ้น และมีข้อมูลที่เปรียบเทียบกันได้ ก.ล.ต. ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน SEC Bond Check สำหรับค้นหารายชื่อหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายใหม่ อายุ อัตราดอกเบี้ย และระดับความเสี่ยง รวมถึงสามารถเปรียบเทียบอัตราดังกล่าวของหุ้นกู้ที่เสนอขายในเวลาใกล้เคียงกันได้ด้วย โดยเลือกให้แสดงผลได้ทั้งวันจองซื้อ อายุ อัตราดอกเบี้ย และบริษัทผู้ออก

 

นอกจากฟังก์ชันค้นหาแบบง่าย สามารถค้นหาได้จากชื่อผู้ออกซึ่งจะแสดงผลยอดคงค้าง และนอกจากข้อมูลหุ้นกู้ในแต่ละรุ่นแล้ว ยังมีฟังก์ชัน advance search ที่สามารถเลือกช่วงของอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ อายุคงเหลือ อันดับความน่าเชื่อถือ และระดับความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่ต้องการค้นหาได้ รวมถึงมีเมนูแสดงผลการจัดอันดับของผู้ออกตราสารหนี้ 10 รายแรก ตราสารหนี้สกุลต่างประเทศ และผู้ออกตราสารหนี้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SEC Bond Check ได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android 

 

ติดตามหลังการลงทุน 

 

เมื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้แล้ว ผู้ลงทุนควรติดตามข้อมูลของบริษัทผู้ออกอย่างสม่ำเสมอ เช่น ผลการดำเนินงาน งบการเงิน การปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ และการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ายังคงอยู่ในขอบเขตที่รับได้หรือไม่ หรือมีโอกาสที่บริษัทผู้ออกจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ซึ่งดูข้อมูลได้จากงบการเงินหรือแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีของบริษัทผู้ออกบนเว็บไซต์ ก.ล.ต

 

ทั้งนี้ หากพบว่าผู้ออกไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ หรือเกิดเหตุการณ์ที่อาจกลายเป็นเหตุผิดนัดตาม  ข้อกำหนดสิทธิ ผู้ลงทุนควรแจ้งให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทราบเพื่อให้ดำเนินการติดตามแก้ไขและรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน และหากพิจารณาแล้วมีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงสูงกว่าที่ตนจะรับได้อาจพิจารณาขายในตลาดรอง

 

ใช้สิทธิเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทขอขยายอายุหุ้นกู้ หรือ ผิดนัดชำระหนี้

 

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา ก.ล.ต. กำหนดให้หุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปและผู้ลงทุนรายใหญ่ต้องมี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ซึ่งมีหน้าที่ติดตามให้ผู้ออกหุ้นกู้ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ กรณีบริษัทผู้ออกไม่ชำระหนี้หรือผิดข้อกำหนดสิทธิอื่น ๆ โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีหน้าที่เรียกร้องให้บริษัทผู้ออกชี้แจงและแก้ไข เรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุน

 

โดยในกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้นหรือแก้ไขข้อกำหนดสิทธิ ผู้ลงทุนควรใช้สิทธิในการซักถามบริษัทผู้ออกหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจลงมติ โดยอย่างน้อยควรครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้ 

 

  • (1) สาเหตุของการไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ตามกำหนดเดิมได้ ข้อเสนอและเงื่อนไขในการขอขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น 
  • (2) แผนการจัดหาแหล่งเงินเพื่อการชำระคืนหนี้ ระยะเวลาการดำเนินการ ความเป็นไปได้ของแผนที่วางไว้ และความเพียงพอที่จะรองรับการชำระหนี้ 
  • (3) ข้อดี ข้อเสีย ประโยชน์ และผลกระทบของการลงมติในแต่ละทางเลือก 
  • (4) ขั้นตอนการดำเนินการตามข้อกำหนดสิทธิในการเรียกร้องให้บริษัทผู้ออกผู้ออกตราสารหนี้ชำระหนี้ทั้งหมด กรณีที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ลงมติไม่อนุมัติ 

 

เมื่อเกิดกรณีที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้จะมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นบุคคลที่ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้องบังคับหลักประกัน บังคับชำระหนี้ให้แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย รวมถึงการเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อาจจำเป็นจะต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขออนุมัติในการดำเนินการ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ก็ควรที่จะต้องใช้สิทธิเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง 

 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ขอให้ผู้ลงทุนหุ้นกู้ศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลตอบแทน รวมถึงใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจ และที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมที่จะจัดสรรเงินในการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่แต่ละคนสามารถรับได้