ดร. ปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง BCGF เปิดเผยว่า ได้จัดตั้งบริษัท BCGF Acquisition Corp. ("BCGF”) โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนในรูปแบบ SPAC (Special Purpose Acquisition Companies) เป็นบริษัทสัญชาติไทยที่ต้องการยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง ก้าวข้ามผ่านจากอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดยวางธุรกิจเป้าหมายเพื่อควบรวมกิจการกับกลุ่มธุรกิจด้านวัสดุชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุทางการแพทย์ ซึ่งเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่สร้างผลกระทบในวงกว้างแก่โลกและมนุษยชาติ มีขนาดกิจการระดับกลางรายเดียวหรือมากกว่าหนึ่งกิจการ มูลค่ากิจการรวมประมาณ 300 - 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป และหากหลายรายมูลค่าต่อรายมากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยที่บริษัทต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีระดับสูง ธุรกิจมีความพร้อมตามเกณฑ์ในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา เป็นธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่สามารถเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรม Bio Circular Green (BCG)
BCGF ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ Global Exchange เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้สัญลักษณ์ “BCGFU” โดยจะเสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก จำนวน 8,700,000 หน่วย ในมูลค่า 10.00 เหรียญสหรัฐต่อหน่วย ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้ หากสามารถระดมทุนได้ครบทั้งหมด 87 ล้านเหรียญสหรัฐ BCGF จะพิจารณาเสนอขายหุ้นเพิ่มเติม (Green shoe Option) อีกภายในกรอบ 15% หรือจำนวน 1,305,000 หน่วย รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 10,050,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 100,050,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมูลค่าประมาณ 3,550 ล้านบาท และคาดว่า จะเริ่มซื้อขายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นี้
จากสถานการณ์โควิด รวมถึงปัญหาสภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการขาดแคลนทรัพยากร ผมคาดการณ์ว่า แนวโน้มต้นทุนการทำการเกษตรและสร้างผลผลิตต่างๆจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนผลผลิตอย่างมาก
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ด้วยการสร้างสารสำคัญต่างๆ ที่นำมาใช้กับอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ของใช้ เครื่องสำอาง บรรจุภัณฑ์ พลาสติกชีวภาพ ผ่านการกระบวนการชีวภาพเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Biotechnology) ทำให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ซึ่งในขณะนี้มีความต้องการและแรงขับเคลื่อนอย่างมหาศาลสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้เกิดการใช้ได้จริงในปริมาณที่เพียงพอและมีต้นทุนที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเราได้มีแนวทางที่จะสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BCGF กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของ BCGF คือการสร้างระบบนิเวศน์ระยะยาวทางด้านอุตสาหกรรม BIOTECHNOLOGY ระดับโลก เพื่อให้ยกระดับสู่ World Class Facility Equipment, Standardization & International Market เพื่อผลักดันงานวิจัยที่น่าสนใจ ทรัพยากร กระบวนการเทคโนโลยีการผลิต ให้มีความพร้อมด้านเครื่องมือและงบประมาณ โดยมีทีมงานนานาชาติชาติร่วมทำงานเป็นทีมเดียวกันเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติออกสู่ตลาดโลก ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว เกิดความคล่องตัวมากที่สุด
ดังนั้น ด้านเงินทุนจึงต้องทำให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุดและมีระบบกิจการที่สามารถยกระดับด้านบัญชีในการเข้าสู่ PCAOB Audit System ของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และมีระบบควบคุมภายในองค์กรและความลึกของเทคโนโลยี (Deep Tech) ซึ่งหากเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่บริษัทฯ มองไว้ จะทำให้อุตสาหกรรมเชิง Deep Tech มีที่ยืนในระดับโลก และสร้างการเติบโตให้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี