ธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้ายกระดับขีดความสามารถแข่งขันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดงานสัมมนา “SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี” เจาะลึกภาพรวมเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก ส่องปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งอัพเดทเทรนด์ของโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อธุรกิจ
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้เราเริ่มเห็นสัญญานที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเริ่มคึกคักอีกครั้ง แม้จะการฟื้นฟูให้สมบูรณ์เท่าระดับเดิมอาจต้องใช้เวลา แต่ก็เป็นบทบาทหนึ่งของธนาคารที่จะเร่งสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติให้ได้เร็วที่สุด กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจึงร่วมมือกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานสัมมนา “SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี”
โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อมุ่งสนับสนุนการเสริมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสามารถปรับกลยุทธ์รวมทั้งรูปแบบธุรกิจให้เท่าทันเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจการนำเข้า-ส่งออกที่กำลังฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะเทรนด์อาหารสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิเคราะห์จาก EIC ผู้บริหารทางด้านธุรกิจตลาดเงิน ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ร่วมให้ความรู้ใน 4 หัวข้อสัมมนา ได้แก่
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวจากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อและนโยบายการเงินตึงตัว และความเสี่ยงด้านอุปทานพลังงานในยุโรป ทางด้านอาเซียนนั้นเศรษฐกิจมีการขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในไตรมาส 2 ตามปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ในส่วนของประเทศไทย เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือน โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่2 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 2.5% จากการเร่งตัวของการบริโภคในประเทศและการฟื้นตัวของภาคบริการ ในระยะต่อไปภาคท่องเที่ยวและภาคบริการจะกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น สำหรับภาคการส่งออกและลงทุนอาจมีการชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก
โดยอีไอซีมองว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรรีบปรับตัวให้สอดคล้องกับปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยควรคำนึงถึงการลดต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม เน้นปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและบริหารจัดการวัตถุดิบ ทั้งในแง่ของการจัดหาซัพพลายเออร์ที่เหมาะสม ประกอบกับการหาวัตถุดิบทดแทนและเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจให้ปรับตัวในวิกฤติได้รวดเร็ว ควรเริ่มปรับใช้ Data analytics ในการเข้าใจความต้องการของลูกค้า นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการและปรับปรุงในระยะยาว