ธปท.เดินหน้าคุม ลีสซิ่ง หวังแก้หนี้นอกระบบ

01 ก.ย. 2565 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2565 | 18:07 น.

ธปท.เดินหน้าเฮียริ่งเช่าซื้อ ลีสซิ่งมอเตอร์ไซด์ คุมนอนแบงก์ หวังแก้หนี้นอกระบบ สมาคมเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์มั่นใจ ธุรกิจรันต่อได้ หากโฟกัสกลุ่มที่มีขนาดสินทรัพย์ 500 ล้านบาท เตรียมหารือธปท.เหตุยังติดขัดบางข้อ วงในเผยทางการหวังคุมนอนแบงก์ เจ้าหนี้นอกระบบ

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของทางการมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้เข้ากำกับผู้ประกอบการ เช่น กลุ่มพิโกไฟแนนซ์ในระดับจังหวัด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แฟกเตอริ่ง ล่าสุดคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยได้เห็นชอบในหลักการให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์และมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ

ธปท.เดินหน้าคุม ลีสซิ่ง หวังแก้หนี้นอกระบบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงเห็นควรออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ)ภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ซึ่งร่างพ.ร.ฎฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งธปท.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น(เฮียร์ริ่ง) ตั้งแต่วันที่ 15-31 สิงหาคม 2565

 

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. เปิดเผยว่า สาระสำคัญในการกำกับเพราะสินเชื่อเช่าซื้อเป็นธุรกิจสำคัญที่ให้บริการประชาชนในวงกว้าง มีอัตราการขยายตัวที่สูงมาก เฉลี่ย 5.5% ต่อปีและคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงด้วย และยังมีเรื่องร้องเรียนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.

ทั้งนี้สินเชื่อเช่าซื้อจึงมีความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจและครัวเรือนที่ใช้สินเชื่อเช่าซื้อจัดหายานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซด์ ดังนั้นหลักการสำคัญที่ธปท.กำกับเรื่อง มาร์เก็ตคอนดักต์และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพรวม (Macro Prudential) เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งกระบวนการเฮียริ่งจะต้องผ่านกลไกของกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามพรบ.บริหารธุรกิจการเงิน

 

“สินเชื่อเช่าซื้อจะเป็นการกำกับดูแลเรื่องค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอยู่ระหว่างหารือของสคบ. โดยธปท.จะเข้าไปกำกับดูแลภายหลังจากที่มีพ.ร.ฎ.แล้ว ส่วนการออกใบอนุญาตอาจเป็นการจดทะเบียนที่ธปท. ซึ่งรูปแบบที่ชัดเจนต้องรอรายละเอียดในพ.ร.ฎ.ที่จะออกมา”นางสาวสุวรรณีกล่าว

 

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัดในฐานะนายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างแสดงความคิดเห็นในร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว แต่หลักใหญ่ยังมีความกังวล เนื่องจากยังไม่เข้าใจในบางข้อ โดยเฉพาะดีลเลอร์ที่เข้าข่ายจะถูกกำกับและสมาชิกที่ยังไม่เคยอยู่ภายใต้กำกับของธปท. ซึ่งพยายามหารือทางธปท.เพื่อจะมาทำความเข้าใจในรายละเอียดก่อนจะตอบผลเฮียริ่ง

นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะอยู่ภายใต้กำกับในอนาคตนั้น เบื้องต้นหากกำหนดจากขนาดสินทรัพย์ 500 ล้านบาทแล้ว กว่าครึ่งของผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมก็อยู่ภายใต้กำกับแล้ว และจะมีผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องธุรกิจเช่าซื้อที่มีสินทรัพย์เกิน 500 ล้านบาท

 

“ทุกคนเห็นร่างพ.ร.ฎที่ธปท.กำหนดเฮียริ่ง แต่บางข้อที่นอนแบงก์และดีลเลอร์ยังไม่เข้าใจ ยกตัวอย่าง มาร์เก็ตคอนดักต์ต้องทำอะไร ส่วนกรอบเวลาหรือไทม์ไลน์ในการกำกับอาจจะไตรมาส 4 ซึ่งในหลักการทำเฮียริ่งนั้น เพื่อจะควบคุมธุรกิจโดยธปท. โดยที่ธุรกิจยังรันต่อได้และธปท.กำกับได้เช่นกัน”นายมงคลกล่าว

 

สำหรับการดำเนินธุรกิจช่วง 8 เดือนของปีนี้ นายมงคลกล่าวว่า ยอดขายรถมอเตอร์ไซด์ช่วง 7-8 เดือนปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนอยู่ ที่ประมาณ 1.5-1.6 ล้านคัน ซึ่งตอนนี้กำลังการผลิตกลับมาตรงจังหวะช่วงไฮซีซันในไตรมาส 4 แต่ในแง่อัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ขยับขึ้นมานิดหน่อยเพียง 2% เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวและกำลังการผลิตเพิ่งจะเริ่มต้นกลับมา หลังจากเกิดปัญหาการส่งมองเพราะขาดแคลนเซมิคอนดักต์ (ชิป) แต่แนวโน้มในระยะข้างหน้าคาดว่า ตลาดจะกลับมาแข่งขันทำตลาดซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค โดยในส่วนของทีลิสซิ่งยังคงเดินหน้าตามนโยบายและคงเป้าเติบโตที่ 25%

 

แหล่งข่าวผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์กล่าวว่า แนวทางที่ธปท.จะกำกับประกอบธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น จะดูแลเกี่ยวกับการให้บริการกับลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ซึ่งมีสัดส่วน 80-90% ที่เหลืออีก 10% เป็นการกำกับเรื่องค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย เบื้องต้นธปท.จะกำกับเรื่อง market Conduct ก่อน

 

ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระหว่างพิจารณาของสคบ. แต่โดยส่วนตัวผมเข้าใจว่า การพิจารณาของทางการจะเน้นเข้าไปควบคุมเจ้าหนี้นอกระบบมากกว่า เพราะผู้ประกอบการเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ในปัจจุบันที่อยู่ในระบบเป็นสินเชื่อเพื่อทำมาหากิน

 

“ผมเข้าใจเจตนาของทางการ ส่วนหนึ่งจะพิจารณาเจ้าหนี้นอกระบบมากกว่าเช่น เงินกู้เสาไฟฟ้าและเพจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกำกับ โดยเฉพาะกลุ่มนอนแบงก์ที่อยู่นอกระบบ ซึ่งผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนในการประกอบธุรกิจกับธปท.ในอนาคต”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,814 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2565