ดอยซ์แบงก์ วาณิชธนกิจข้ามชาติของเยอรมนีระบุว่า การประกาศนโยบายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่า อังกฤษ จะสามารถหลีกเลี่ยง วิกฤตเศรษฐกิจมหภาค ขั้นรุนแรงต่าง ๆ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะวิกฤตด้านดุลการชำระเงิน หลัง นางลิซ ทรัสส์ ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นางทรัสส์ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม สืบทอดตำแหน่งต่อจากนายบอริส จอห์นสันเมื่อวันจันทร์ (5 ก.ย.) โดยมีคะแนนนำนายริชิ ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษที่ 81,326 ต่อ 60,399 เสียงจากการลงคะแนนของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม และการขึ้นเป็นผู้นำพรรครัฐบาล ก็ทำให้เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ (อ่านเพิ่มเติม: "ลิซ ทรัสส์" เข้าเฝ้าควีนวันนี้ เพื่อเป็นนายกฯอังกฤษอย่างเป็นทางการ )
เงินปอนด์ขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงบ่ายวันจันทร์(5 ก.ย.)โดยเคลื่อนไหวต่ำกว่า 1.15 ดอลลาร์เล็กน้อย แต่นายเชรยาส โกปาล นักกลยุทธ์ด้านปริวรรตเงินตราของดอยซ์แบงก์เตือนว่า ไม่ควรประเมินความเสี่ยงที่จะเกิด "วิกฤตเงินปอนด์" ต่ำจนเกินไป
"ด้วยยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว ปอนด์ต้องการเม็ดเงินทุนไหลเข้ามหาศาลซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ลดลง ทว่าสถานการณ์กลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม" ดอยซ์แบงก์ระบุ
"อังกฤษกำลังเผชิญปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศ G10 และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ขณะเดียวกัน การขยายงบประมาณการคลังขนานใหญ่แบบไร้เป้าหมาย ทั้งที่ขาดแคลนเงินทุน ควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) อาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงยิ่งขึ้นไปอีก"
ก่อนหน้านี้นางทรัสส์วิพากษ์วิจารณ์ BoE และนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BoE ขณะเดินสายหาเสียงเลือกตั้ง โดยกล่าวโทษ BoE ที่ปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และมีรายงานระบุว่า เธอกำลังพิจารณาทบทวนอำนาจหน้าที่ของ BoE หลังจากที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี