สรรพากร ดัน กม.ดึงข้อมูลเงินฝากคนไทยในต่างแดน กันเลี่ยงภาษี

06 ก.ย. 2565 | 23:00 น.

กรมสรรพากร เดินหน้าออก กม. แลกเปลี่ยนข้อมูลการฝากเงิน-ทรัพย์สินในต่างประเทศ ในฐานะประเทศสมาชิกโออีซีดี หวังลดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน กันการเลี่ยงภาษี คาดบังคับใช้ปีงบฯ 66

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร เพื่อรองรับการขยายความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ข้อมูลการฝากเงิน และทรัพย์สินในต่างประเทศ กับหน่วยงานสรรพากรระหว่างประเทศ

 

ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) โดยเมื่อดำเนินการรับความฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ทันที คาดว่า กฎหมายจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้

“การแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวนั้น หมายความว่า เราจะต้องให้ข้อมูลทางภาษีอากร และข้อมูลบัญชีทางการเงิน เช่น หลักทรัพย์ ประกัน เงินฝาก และสินทรัพย์ ของคนต่างชาติในกลุ่มประเทศสมาชิกโออีซีดี ทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย ในทางกลับกัน ประเทศดังกล่าวก็ต้องส่งข้อมูลมาให้กับเราเหมือนกัน โดยกำหนดส่งทุกปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีหน้าเป็นต้นไป” นายลวรณ กล่าว

สำหรับการออกกฎหมายดังกล่าว เป็นไปตามที่ประเทศไทยมีพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรแบบร้องขอ ตามความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรและความตกลง พหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี

 

รวมทั้ง มีพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล บัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยน ข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ

 

ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Informationfor Tax Purposes ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisationfor Economic Co-operation and Development)

 

ซึ่งมีผลผูกพันให้ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรและข้อมูลบัญชีทางการเงินกับคู่สัญญาตามความตกลงดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อผูกพัน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรและข้อมูลบัญชีทางการเงินดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าว

 

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่าร่าง พ.ร.บ. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร หากผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว จะมีการออกเป็น พ.ร.บ. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีงบ 66

 

โดยก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรไทย ได้พัฒนาความร่วมมือในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น การเปิดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านภาษีของชาวต่างชาติที่มีรายได้และเสียภาษีในไทย กับประเทศต้นทางที่เป็นเจ้าของสัญชาติ

 

และแผนต่อไปจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวข้องภาษี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายอยู่ หากทำสำเร็จจะช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี และเงินนอกกฎหมายได้มาก เพราะหลายประเทศ เช่น เกาะบริติช เวอร์จิน ที่เป็นสวรรค์นักลงทุน ก็เข้ามาเป็นสมาชิกของโออีซีดี แล้ว

 

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้หารือร่วมกับประเทศสมาชิกโออีซีดี จัดทำมาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ  เช่น มาตรการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีเงินได้ โดยปันส่วนกำไรมาให้กับประเทศผู้ใช้บริการ ถึงแม้จะไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศที่ให้บริการ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการจัดเก็บภาษีอี-เซอร์วิส จากแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยในปัจจุบัน

 

เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสียภาษีทุกราย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของไทยที่ต้องการขยายฐานการจัดเก็บภาษีให้ไทยมีแหล่งรายได้ใหม่จากบริษัทข้ามชาติที่เคยหลบเลี่ยงภาษี กลับมาจ่ายภาษีให้กับประเทศ หากเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 66 และมีผลบังคับใช้ในปี 67 และขณะนี้มีการเจรจาขอเลื่อนการบังคับใช้เป็นปี 68