ทำความรู้จัก Baht bond ต่างจากหุ้นกู้ปกติอย่างไร

07 ก.ย. 2565 | 01:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2565 | 08:09 น.

รู้จัก "Baht bond" หรือ บาทบอนด์ ต่างจากหุ้นกู้ปกติโดยทั่วไปอย่างไร กฎเกณฑ์การออก และใครบ้างที่จะออก baht bond ได้

Baht bond คืออะไร ต่างจากหุ้นกู้ปกติไหม?

 

Baht bond หรือ บาทบอนด์ คือ พันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทที่ออกโดยหน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ และเสนอขายในประเทศไทย ส่วนหุ้นกู้ปกติที่เสนอขายในตลาดจะออกโดยหน่วยงานหรือองค์กรของไทย หรือนิติบุคคลตามกฎหมายไทย

 

กฎเกณฑ์การออก Baht bond ต่างกับหุ้นกู้ปกติไหม

 

ผู้ที่ต้องการเสนอขาย Baht bond ต้องขออนุญาตการออกกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ที่จะเปิดให้ยื่นขออนุญาตปีละ 3 ครั้ง ภายในเดือนมีนาคม กรกฎาคม และพฤศจิกายนของทุกปี โดยเมื่อได้รับอนุญาต ผู้ออกต้องทำการออก Baht bond ภายใน 9 เดือน เมื่อได้รับอนุมัติจาก สบน. จึงมายื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (แบบ filing) กับสำนักงาน ก.ล.ต. เหมือนหุ้นกู้ปกติก่อนการเสนอขายนักลงทุน

จะออก Baht bond ใช้อันดับเครดิตระดับสากล (International rating) หรือ ระดับภายในประเทศ (National rating)?

 

ผู้ที่ต้องการออก Baht bond จะต้องมีอันดับเครดิตระดับสากล (International rating) ตั้งแต่ A- ขึ้นไป แต่สำหรับผู้ออกจากประเทศกัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม สามารถใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศไทย (National rating) ได้

 

ใครบ้างที่ออก baht bond ได้ ?

 

  • ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นหน่วยงานแรกที่ออกเมื่อปี 2548
  • ยุคแรกเป็นการออกโดยองค์กรและสถาบันการเงินระหว่างประเทศองค์กรจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา
  • ช่วงปี 2553-2556 เป็นผู้ออกจากเกาหลีใต้เป็นหลัก
  • ปัจจุบัน Baht bond คิดเป็น 2% ของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ภาคเอกชนไทย
  • ผู้ออกจาก สปป.ลาว มาออก Baht bond มากที่สุด คิดเป็น 90% ของมูลค่าบาทบอนด์ทั้งหมดที่ 83,826 ล้านบาท