ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันพบว่า เติบโตขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2565 พบว่า มีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 4,536,663 บัญชีเพิ่มขึ้น 144.86% มียอดสินเชื่อคงค้าง 205,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108,471 ล้านบาทหรือ 112.18% ขณะที่มียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนรวม 3,508 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 79.44% โดยที่การเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์)
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ(VTLA)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในปี 2565 ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องจากครั้งแรกปีที่เติบโตประมาณ 23% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยที่ยอดสินเชื่อคงค้างปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด
สะท้อนจากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ 205,161 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 112% จาก 96,690 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปี 2562 ซึ่่งส่วนใหญ่เป็นการเติบโตจากนอนแบงก์มากกว่าผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ เห็นได้จากสินเชื่อทะเบียนรถที่มาจากนอนแบงก์ขยายตัวถึง 157.6% ที่เหลือมาจากธนาคารพาณิชย์ที่สินเชื่อเติบโตเพียง 12.24% อย่างไรก็ตามคาดว่า อุตสาหกรรมรวมทั้งปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า25%
“ความต้องการสินเชื่อที่เข้ามาทั้ง รถเก๋ง กระบะ มอเตอร์ไซด์ เห็นการเติบโตเร่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มรถบรรทุกนั้นเพิ่งจะกลับมาฟื้นตัวไตรมาส 3 หลังจากต้องเจอต้นทุนราคาพลังงาน ราคาน้ำมันปรับเพิ่ม ทำให้ชะลอตัวช่วงหนึ่ง”นายปิยะศักดิ์ กล่าว
สิ่งที่เห็นชัดคือ ผู้ประกอบการรายใหญ่เติบโตเร็วกว่าภาพรวมของตลาด มีหลายรายแตกไลน์ธุรกิจทำสินเชื่อประเภทอื่นด้วยเช่น ที่ดินหรือเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ ซึ่งปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศ การส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหัวเมืองท่องเที่ยว ประกอบกับมีการยกเลิกทำงานที่บ้าน (WFH) ทำให้เกิดการเดินทางคมนาคมและใช้จ่าย เกิดการหมุนของเงินมากขึ้นในระบบ
โดยเฉพาะจากผู้บริโภคที่มีการจับจ่ายสินค้าจำเป็น ขณะที่ผู้ประกอบการเริ่มมีรายรับเข้ามา บวกการส่งออกสินค้าเกษตรประเภทผลไม้ตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบที่มาจากเงินเฟ้อที่กดดันจากราคาน้ำมันและส่งผ่านไปยังสินค้าประเภทอื่นทำให้ค่าครองชีพปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเติบโตชะลอลงในปี 2563 แต่เริ่มเห็นการขยายตัวปี 2564 ต่อเนื่องถึงปีนี้ที่อัตราเติบโตเร็วขึ้น และเป็นการเติบโตเกินกว่าระดับก่อนโควิด-19 เนื่องจากก่อนโควิด ธนาคาร/บริษัทชะลอการปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกันจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับลดลงกอบกับมีโครงการพักชำระหนี้ของธปท.จึงเป็นโอกาสของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ
ในแง่การแข่งขันปีนี้น้อยกว่าช่วงปีที่แล้วที่อาจเป็นผลพวงจากหลายบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการระดมทุน(ไอพีโอ) จำนวนมากและยังเน้นเรื่องดอกเบี้ยต่ำ แต่ด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนต่างๆในปีนี้ ทำให้การแข่งขันด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำมีแนวโน้มลดลง เพราะต้นทุนในการระดมทุนเพิ่มขึ้นทั้งตลาดเงินและธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าธปท.ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเหมืิอนต่างประเทศก็ตาม แต่ผู้ประกอบการแทบทุกรายได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยด้วย
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในปีนี้ จะเห็นในรูปแบบของจำนวนรายของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนอนแบงก์และธนาคารในระบบหันมาขอใบอนุญาตปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อหรือจำนำทะเบียนกันบ้าง ขณะที่สมาชิกของสมาคมธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมี 12 รายมีสาขารวมกันกว่า 10,000 แห่ง ส่วนใหญ่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้
“ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมีทิศทางที่ดี จากอดีตเป็นธุรกิจอยู่ในเงา ตอนนี้เริ่มเป็นช่องทางที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น แต่ยังมีบางรายที่ยังเอาเปรียบลูกค้า ตามที่เห็นจากข่าวการถูกฟ้องคดี ซึ่งแนวโน้มเชื่อว่าจะค่อยๆ ปรับสู่ระบบ” นายปิยะศักดิ์
ส่วนของ TIDLOR นั้น ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 7,000 คน สาขากว่า 1,500 แห่ง การเติบโตสินเชื่อทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ 23-28% โดยมียอดคงค้างสินเชื่อสิ้นปีที่แล้ว 61,500 ล้านบาท ส่วนเบี้ยประกันอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 32% ซึ่งทะลุเป้าทั้งปีที่คาดไว้ว่าจะเติบโต 30% ส่งผลให้เมื่อรวมเบี้ยประกันน่าจะทะลุ 6,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ไม่ถึง 1.5% ซึ่งต่ำกว่าระบบที่มีอยู่กว่า 2.5%
“ยอมรับว่า ความสามารถในการชำระหนี้เริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระกลับมาบ้าง สะท้อนการผ่อนชำระแย่ลงประมาณ 5-10% แต่ขอดูสถานการณ์อีกระยะ ทั้งตลาดยังคงมีมาตรการดูแลลูกค้า สมาคมเรายินดีช่วยเหลือลูกค้าในวงกว้าง แม้ว่าผู้ประกอบการมีเครดิตคอร์สเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์อยู่แล้ว” นายปิยะศักดิ์ กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,817 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2565