กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.70-37.35 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.92 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 36.25-37.10 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 15 ปี หลังสหรัฐฯรายงานเงินเฟ้อสูงเกินคาดและเงินหยวนอ่อนค่าผ่าน 7.0 ต่อดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำในตลาดโลกที่ร่วงลงอย่างหนักเพิ่มความต้องการนำเข้าของผู้ค้าทองในประเทศ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินเยนร่วงลงสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปีก่อนจะลดช่วงลบ ขณะที่ทางการญี่ปุ่นกล่าวว่าอาจจะดำเนินมาตรการสกัดกั้นการอ่อนค่าของเยน
อย่างไรก็ดี ภาพรวมค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่พุ่งขึ้นหลังข้อมูลบ่งชี้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 8.3% y-o-y ในเดือนสิงหาคม แม้ชะลอลงจาก 8.5% ในเดือนกรกฎาคม แต่สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนสิงหาคม เร่งตัวจาก 5.9% ในเดือนกรกฎาคม ตอกย้ำว่าเงินเฟ้อยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตั้งไว้ที่ 2% อย่างมาก และสัญญาล่วงหน้าดอกเบี้ยยกเลิกมุมมองที่ว่าเฟดใกล้จะชะลอความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 4,998 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตร 678 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าเหตุการณ์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมเฟดวันที่ 20-21 กันยายน ซึ่งเราคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 75bp จากระดับ 2.25-2.50% อีกทั้งตลาดจะจับตาประมาณการดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟด (dot plot) และการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อซึ่งจะมีผลต่อทิศทางค่าเงินในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งคาดว่าจะคงนโยบายตามเดิมในวันที่ 22 กันยายน ท่ามกลางการประเมินของบีโอเจตลอดช่วงที่ผ่านมาว่าเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเกิดจากด้านต้นทุนและบีโอเจไม่มีทางเลือกมากนักแม้ทั่วโลกจะยกระดับการคุมเข้มนโยบายการเงินก็ตาม ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 50bp ในการประชุมสัปดาห์นี้
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธปท.ระบุว่าเงินบาทผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเรามองว่าเงินบาทจะอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายเฟดอีกระยะหนึ่ง ขณะที่การเข้าดูแลตลาดของทางการสะท้อนความพยายามที่จะลดความผันผวนแต่ไม่สามารถสวนกระแสหลักของโลกได้เช่นเดียวกันกับกรณีบีโอเจและธนาคารกลางแห่งอื่นๆ