กระทรวงคลังยอมรับ ค่าบาทอ่อน กระทบเงินเฟ้อ

21 ก.ย. 2565 | 07:10 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2565 | 14:10 น.

กระทรวงการคลังยอมรับ ค่าบาทอ่อน กระทบเงินเฟ้อ เตรียมหารือธปท. วิเคราะห์สถานการณ์ค่าบาทอ่อน ย้ำคลังเข้าไปกำหนดแนวทางดูแลค่าบาทไม่ได้

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจมหาอำนาจ เรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ยังเป็นที่จับตาของตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัวกันไป

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าขณะนี้นั้นเป็นการอ่อนค่าเร็วเกินไปหรือไม่ จะต้องมาพิจารณาว่าเกิดจากปัจจัยภายในหรือภายนอกประเทศ ซึ่งการที่เงินบาทอ่อนค่าเร็วนั้น เป็นผลมาจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าเร็วหรือไม่ ซึ่งหากดอลลาร์แข็งค่าเร็ว เงินบาทก็จะอ่อนค่าเร็วตาม ดังนั้นจึงต้องดูหลายปัจจัย

 

 

นายอาคม ยอมรับว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าเร็วก็มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ จากการที่ราคาวัตถุดิบ ราคาสินค้าแพงขึ้น ซึ้งรัฐบาลก็ได้เข้าไปดูแลในเรื่องของราคาขายปลีก รวมถึงการออกมาตรการเพื่อดูแลราคาต้นทุน ซึ่งรัฐบาลก็ทำทุกอย่างเท่าที่มีเครื่องมือที่จะเช้าไปดูแลได้

 

"จากสถิติ ค่าเงินบาทก็มีช่วงที่อ่อนค่ามากที่สุด และค่อยปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเมื่อดอกเบี้ยของสหรัฐขึ้นไปสู่จุดสูงสุดแล้ว ก็เชื่อว่าค่าเงินจะเริ่มนิ่งและเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งก็จะมีการปรับตัวตามพื้นฐานใหม่ ก็มีขึ้นมีลง" นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม กล่าวถึงการกรณีที่จะไปหารือร่วมกับ ธปท. นั้น ก็จะมีการคุยถึงสถานการณ์ ปัจจัยที่มากระทบ โดยจะมีการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกัน ส่วนจะมีการกำหนดแนวทางในการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทร่วมกันหรือไม่นั้น นายอาคม ระบุว่า ธปท. มีหน้าที่ในการดูแลค่าเงินอยู่แล้ว

 

"ดังนั้นคลังไม่สามารถไปกำหนดแนวทางอะไรให้ได้ เพียงแต่อาจแสดงความเป็นห่วงกรณีที่ค่าเงินอ่อนค่าเร็วเกินไปหรือไม่ และจะกระทบอะไรบ้าง เพราะทางด้านซัพพลายไซต์เราก็ดูแลเต็มที่"นายอาคมกล่าว

 

ส่วนกรณีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่างจากดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐนั้น ทาง ธปท. ได้รายงานสถานการณ์มาโดยตลอด โดยยังไม่พบการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่มากจนผิดปกติ ซึ่ง ธปท. ก็มีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง