หลังจากที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศระดมกำลังพลเพื่อยกระดับการทำ สงครามกับยูเครน วานนี้ (21 ก.ย.) ดัชนีดอลลาร์ ได้ขยับสูงขึ้น 0.42% สู่ระดับ 110.68 ณ เวลา 20.17 น.ตามเวลาไทย หลังพุ่งแตะระดับ 110.87 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ดัชนีดอลลาร์ได้พุ่งขึ้นมาแล้ว 16% และมีแนวโน้มจะทำสถิติทะยานขึ้นในปีนี้ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2524
นอกจากนี้ ดอลลาร์ดีดตัว 0.17% สู่ระดับ 143.96 เยนวานนี้ (21 ก.ย.) ส่วนยูโรปรับตัวลง 0.44% สู่ระดับ 142.65 เยน และอ่อนค่า 0.60% สู่ระดับ 0.991 ดอลลาร์
รายงานข่าวระบุว่า การประกาศของปธน.ปูติน ถือเป็นการเรียกระดมพลทหารรัสเซียเป็น “ครั้งแรก” นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ผู้นำรัสเซียยังเตือนด้วยว่า หากชาติตะวันตกยังคงใช้อาวุธนิวเคลียร์มาแบล็คเมล์รัสเซีย รัสเซียก็จะทำการตอบโต้ด้วยสรรพกำลังที่มีอยู่ในคลังอาวุธของประเทศ
สำหรับปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนก.ย. (ซึ่งเฟดก็ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาดการณ์) และคาดว่าจะปรับขึ้นอีก 0.75% ในการประชุมเดือนพ.ย. ก่อนที่จะผ่อนคันเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 64.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. ขณะที่ให้น้ำหนัก 46.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามคาด จะส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย.,ก.ค.,ก.ย.และพ.ย. ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงกว่าระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เฟดมองว่าเป็นกลาง โดยไม่ผ่อนคลายหรือเข้มงวดจนเกินไป