ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวชื่นชม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เมื่อผู้นำทั้งสองพบปะกันวานนี้ (15 ก.ย.) ที่อุซเบกิสถาน โดยเขาแสดงความชื่นชมการวางบทบาทของจีนอย่าง "เป็นกลาง" บน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน พร้อมฝากเนื้อหาส่วนหนึ่งถึงสหรัฐอเมริกาด้วยว่า ความพยายามของสหรัฐในการสร้างโลก "แบบขั้วเดียว" จะไม่มีวันประสบผล
ด้าน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวในการพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกระหว่างเขาและประธานาธิบดีปูตินว่า ยินดีที่ได้พบกับ "เพื่อนเก่า" อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้นำจีนซึ่งกำลังจะรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สามติดต่อกันในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันที่ 16 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ละเว้นที่จะไม่กล่าวถึง "ยูเครน" ในถ้อยแถลงของเขาแต่อย่างใด
ปธน.สีเพียงแต่ย้ำว่า จีนยินดีที่จะให้ "การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง" กับรัสเซีย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติ และจะดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในฐานะประเทศขนาดใหญ่ รวมทั้งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพในโลก
ที่ผ่านมา จีนเอาตัวออกห่างจากการประณามปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียต่อยูเครน และไม่แม้แต่จะเรียกว่า “การรุกราน” ซึ่งเป็นท่าทีสอดประสานกันกับรัฐบาลเครมลิน ที่เรียกสงครามนี้ว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร”
สื่อระบุว่า ในการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) ปธน.ปูติน กล่าวว่า “เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาทที่เป็นกลางของจีนผู้เป็นมิตรของเราเมื่อกล่าวถึงประเด็นวิกฤตยูเครน”
นอกจากนี้ ในบางช่วงของการแถลงข่าวปธน. ปูติน ยังเรียกปธน.จีนว่า “สหายสี จิ้นผิง ที่รัก”ด้วย
ครั้งสุดท้ายที่ผู้นำทั้งสองได้พบกันแบบตัวต่อตัวก่อนหน้าครั้งนี้ คือช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทัพรัสเซียจะบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยผู้นำทั้งสองได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ “แบบไม่มีขีดจำกัด” ระหว่างกัน แต่จนถึงขณะนี้ จีนเองซึ่งได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจโลก ก็ยังคงต้องระมัดระวังตัวเองด้วยการที่จะไม่ส่งความช่วยเหลือแก่รัสเซียโดยตรงที่อาจทำให้จีนต้องเผชิญกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกเสียเอง
ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รัสเซีย-จีน
ปธน. สี และปธน. ปูติน ได้ริเริ่มการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญระหว่างกัน หลังจากจีนก้าวขึ้นมามีบทบาทในเวทีโลกตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และผู้นำทั้งสองก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม สงครามยูเครนที่ปะทุขึ้นได้ตอกย้ำความแตกต่างระหว่างจีนและรัสเซีย ในแง่ที่ว่า ประเทศหนึ่ง คือ มหาอำนาจที่กำลังเติบโต และมีขนาดเศรษฐกิจที่พร้อมจะเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้ในอีกสิบปีข้างหน้า
ขณะที่อีกประเทศหนึ่ง คือมหาอำนาจที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประเทศที่ยิ่งใหญ่ และกำลังตกระกำลำบากกับภาวะสงคราม
“ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งในยุคของเราและในประวัติศาสตร์ของเรา จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัสเซียในการแสดงบทบาทของผู้นำ ที่มีความรับผิดชอบในฐานะประเทศมหาอำนาจ และสร้างความมีเสถียรภาพและพลังเชิงบวกให้กับโลกอันวุ่นวายนี้” ปธน. สีกล่าวระหว่างแถลงการณ์ร่วมกับปธน. ปูติน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้ปธน.สี จิ้นผิง จะเคยพบปะกับปธน.ปูตินแบบตัวต่อตัวมาแล้วถึง 39 ครั้ง นับตั้งแต่ที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเมื่อปี 2013 แต่เขาก็ยังไม่มีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบบตัวต่อตัวเลย นับตั้งแต่ปธน. ไบเดน ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2021
ว่าด้วยเรื่องไต้หวันและความมั่นคงด้านพลังงาน
นอกจากประเด็นยูเครนแล้ว ผู้นำรัสเซียและจีน ได้แลกเปลี่ยนทัศนะในเรื่องต่างๆที่เป็นประเด็นโลก ซึ่งทั้งสองมหาอำนาจต่างมองว่า ชาติตะวันตกกำลังเสื่อมถอยในอำนาจ ระหว่างที่จีนเองก็กำลังท้าทายอำนาจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในเวลานี้
สำหรับประเด็นไต้หวันนั้น แน่นอนว่าปธน.ปูติน แสดงท่าทีสนับสนุนจีนอย่างชัดเจน โดยเขากล่าวว่า รัสเซียมีความตั้งใจที่จะยึดหลักการจีนเดียวอย่างแน่วแน่ และขอประณามการยั่วยุจากสหรัฐและฝ่ายสนับสนุนสหรัฐ
นอกจากนี้ ระหว่างที่ชาติตะวันตกกำลังลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ปธน. ปูติน ได้มองหาช่องทางที่จะขยายการส่งออกมายังจีนและเอเชียมากขึ้น ผ่านโครงการท่อส่งก๊าซ Siberia 2 ที่สามารถส่งก๊าซได้ราว 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียขายให้กับยุโรป
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ท่อส่งก๊าซผ่านมองโกเลีย ซึ่งในการหารือของผู้นำจีนและรัสเซีย ประธานาธิบดีมองโกเลีย สนับสนุนการใช้มองโกเลียเป็นทางเชื่อมในการสร้างท่อส่งก๊าซระหว่างรัสเซียไปยังจีนด้วยเช่นกัน