จากสถานการณ์ค่าเงินบาทล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 อ่อนค่าลงในช่วงระหว่างวันอยู่ที่ 37.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 37.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้วยสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าครั้งนี้ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับประมาณ 4.5-5%
ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่า ทำให้ภาพรวมในระยะสั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่ค่าเงินจะอ่อนค่าลงไปอีก
อย่างไรก็ดีมองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจนถึงปีหน้าจะอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ภาคส่งออก ก็น่าจะเติบโตแต่ไม่โดดเด่นมากเท่าในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสที่ค่าเงินในระยะกลางจะกลับมาแข็งค่าที่ประมาณ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
“คิดว่าจุดสำคัญนอกจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว คือ ค่าเงินที่อ่อนมากจะเป็นโอกาสที่ไทยจะจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเราในช่วงนี้ เพราะเสมือนเม็ดเงินที่ลงทุนจะถูกลงมาก ถ้าไทยดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้เร็ว ค่าเงินในระยะสั้นจะไม่อ่อนค่ามากและจะทำให้ค่าเงินบาทสามารถเข้าสู่ภาพในระยะกลางคือ ค่อย ๆ กลับมาแข็งค่าได้ดีขึ้น” ดร.นณริฏ ระบุ
ส่วนข้อแนะนำที่นักภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวรองรับนั้น ดร.นณริฏ แนะนำว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐ ยุโรป จีน หรือ ญี่ปุ่น ดังนั้นในส่วนของนักลงทุนองคงต้องมองในเรื่องของสินทรัพย์ที่เหมาะสม และการหาจังหวะถือเงินสดเพื่อรอการลงทุนในช่วงที่จังหวะดี
นอกจากนี้ภาคธุรกิจของไทยเองยังต้องระวังเรื่องเงินเฟ้อในประเทศ และราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อาจจะเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบายด้วย