การปรับขึ้นดอกเบี้ย ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) นั้น เป็นการปรับขึ้น ดอกเบี้ยนโยบาย ในอัตรา 0.75% ตามคาด และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 ในรอบปีนี้ หรือนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และ ธนาคารกลาง ทั่วโลกตั้งแต่อินโดนีเซียไปจนถึงนอร์เวย์ ต่างก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว
มีข้อยกเว้นกรณีของ ญี่ปุ่น ที่มีมาตรการและนโยบายการเงินที่แตกต่างไปจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วรายอื่น ๆ โดยญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเดิมเมื่อวันพฤหัสบดี (22 ก.ย.) แม้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ญี่ปุ่นต้องตัดสินใจแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี
นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ญี่ปุ่นยังคงดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในอัตราต่ำใกล้ศูนย์ในปัจจุบันนั้น เหตุผลเพียงเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง แต่ก็เชื่อว่า ญี่ปุ่นอาจต้านทานพลวัตนี้ไม่ได้นาน เนื่องจากกระแสการปรับขึ้นดอกเบี้ยในนานาประเทศทั่วโลกทำให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับสูงขึ้นไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน
สำรวจการขึ้นดอกเบี้ยของนานาประเทศ
จากการประมวลของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ที่ระดับ 3.5% ในสวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงเกือบ 10% ในอังกฤษ เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เรื้อรังมาจากวิกฤตการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ราคาพลังงาน และราคาสินค้าพุ่งสูง เนื่องจากการบุกยูเครนของรัสเซีย แต่มาตรการจัดการเงินเฟ้อของฝ่ายกำกับดูแลนโยบายการเงินมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน