เงินบาทกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 38.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังอ่อนค่าไปแตะ 38.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2549 หรือในรอบกว่า 16 ปี) หลังกนง.มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% ไปที่ 1.00%
ซึ่งแม้จะเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ของตลาดที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ทำให้ตลาดบางส่วนที่คาดหวังว่า จะเห็นสัญญาณคุมเข้มมากกว่านี้ผิดหวัง นอกจากนี้เงินบาทยังอ่อนค่าตามแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ โดยขายสุทธิหุ้น 208.48 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 3,727 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงสอดคล้องกับเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ภูมิภาคที่ล้วนเผชิญแรงเทขายท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน
ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 28 กันยายน 2565 โดยธปท. อยู่ที่ -26.85 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -23.46 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้คาดไว้ที่ 38.20-38.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ค่าเงินหยวนและสกุลเงินเอเชีย กระแสเงินทุนต่างชาติ สัญญาณดอกเบี้ยจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และจีดีพีไตรมาส 2/65 (final) ของสหรัฐฯ