ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงิน โดยระบุว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นมาจากข่าวภายนอกประเทศที่ทำให้ค่าเงินเคลื่อนไหวมาก สะท้อนข้อจำกัดของการดูแล ยกตัวอย่างเมื่อช่วง 1-2 วันก่อนที่เงินบาทแข็งค่ามาจากเรื่องของจีนและดุลการค้าของไทยดีกว่าคาด
หากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่เกิดขึ้นปัจจุบันยังคงเกาะกลุ่มภูมิภาค โดยยังไม่เห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติจากกลุ่ม ซึ่งค่าเงินบาท ถือว่าอ่อนค่า ระดับกลางๆ หากเทียบกับภูมิภาค ซึ่งมีประเทศเกาหลีที่เคลื่อนไหวอ่อนค่านำไทย และเงินบาทอ่อนค่ากว่ามาเลเซีย และอินโดนีเซีย
สิ่งที่ธปท.ต้องการเห็น คือ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันแม้จะมีสัดส่วนการทำเฮดจิ้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้เท่าที่ธปท.อยากเห็น ส่วนหนึ่งมาจากความคุ้นเคย และเรื่องของต้นทุนที่สูง
โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.พยายามหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าเรื่องของนวัตกรรม หรือ FX Ecosystem จะเข้ามาตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ ดังนั้น ต้องทำระบบเอื้อให้ทางเลือกต่างๆ เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธปท.อยากเห็นเอสเอ็มอีมองการทำเฮดจิ้งเหมือนการทำประกัน แต่ผู้ประกอบการจะมองว่าส่วนต่างกำไรน้อย และเสียต้นทุนสูง จึงต้องทำให้ต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งมองว่าการเพิ่มผู้เล่นใหม่ เข้ามาจะช่วยเรื่องนี้ได้
"เราไม่ควรทำ อันหนึ่ง คือ การทำประกันให้ทุกคน เพื่อทำให้ค่าเงินไม่เคลื่อนไหวเลย เพราะแม้จะลดความผันผวนและช่วยผู้ประการการ แต่จากบทเรียน ปี2540 สะท้อนการฝืนกลไกตลาดเพื่อช่วยลดผลกระทบจากผู้ประกอบการ แต่การทำแบบนี้ แม้จะลดความผันผวน แต่ทำให้ความเปราะบางต่างๆเพิ่มขึ้น"
ต่อข้อถามถึงประเด็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดมาตรการควบคุมการทำธุรกรรมการฝากเงินผ่านเครื่องรับฝากและถอนเงินอัตโนมัติ (โครงการCDM/ADM) ต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตซึ่งเป็นไปตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตร 20 ประกอบกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เดือนพฤศจิกายนนั้น
ผู้ว่าธปท.กล่าวว่า ในส่วนของธปท.มีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานภายใต้การกำกับ สมาคมธนาคารไทย (TBA)และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการมองหาวิธีอื่นมาใช้แทนเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีการใดมาแทนการเสียบบัตรเดบิตและบัตรเครดิตเพื่อยืนยันตัวตน ส่งผลให้ปปง.เลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน เพื่อหาวิธีตอบโจทย์ที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งการเงินเรารับโจทย์และหาวิธีที่จะตอบโจทย์ที่ดีกว่า ส่วนข้อถามจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าใช้เวลานานแค่ไหน ซึ่งหากมีเลื่อนภาระของประชาชนก็ยังไม่เกิด
สำหรับการเสนอให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการยืนยันตัวตนผ่านเครื่อง CDM แทนการใช้บัตรเดบิตหรือเครดิตนั้น เพราะมองว่าทุกคนมีบัตรประชาชนอยู่ แต่การใช้บัตรประชาชนก็ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของบัตรสูญหาย หรือลืมบัตรที่เสียบได้
ประกอบกับการต้นทุนในการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร มีต้นทุนสูง และอาจจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภค จึงมองว่ายังไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมที่สุดและตอบโจทย์ ส่วนการใช้วิธีโมบายแบงกิ้ง หรือคีย์เลขบัตรประชาชนอาจจะเหมาะสมกว่า แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป