thansettakij
“ฟันด์โฟลว์-เงินบาท”ยังไหลต่อ แนะป้องกันความเสี่ยง

“ฟันด์โฟลว์-เงินบาท”ยังไหลต่อ แนะป้องกันความเสี่ยง

24 ต.ค. 2565 | 01:14 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 08:14 น.

กูรูเตือน “ฟันด์โฟลว์-ค่าเงินบาท” ยังไหลต่อ แนะธุรกิจป้องกันความเสี่ยง เหตุธปท.ดูแลลดความผันผวน ปล่อยให้เป็นไปตาม กลไก-ปัจจัยที่มีในตลาด ชี้บาทอ่อน 12.5% ล้อไปกับสกุลเงินเอเชีย ขณะนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.42 แสนล้านบาท แต่ขายสุทธิบอนด์ 50,335 ล้านบาท

เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ อายุ 10 ปีของสหรัฐ ที่่ดีดตัวกลับมาเหนือระดับ 4.10% ไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี จากการปรับมุมมองของตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งละ 0.75% ในอีก 2 การประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้สกุลเงินเอเซียอ่อนค่าลงทั้งสิ้น

 

รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าที่ระดับ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565  ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปีครั้งใหม่ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 38.20 บาทต่อดอลลาร์ จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 33.41บาทต่อดอลลาร์ โดย เงินบาทอ่อนค่า 12.5% ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแล้ว 17.9%

 

สำหรับค่าเงินสกุลเอเชียที่อ่อนค่าไปในทิศทางเดียวกับเงินบาท โดยพบว่า เงินเยน ญี่ปุ่นอ่อนลงมากที่สุดถึง 23.2% จากสิ้นปี 2564 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็น วอนเกาหลีใต้ อ่อนค่าลง 17.0% และดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่าลง 13.8% และเปโซ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่าลง 13.5% โดยที่เงินบาทไทยอ่อนค่าลง 12.5% 

“ฟันด์โฟลว์-เงินบาท”ยังไหลต่อ แนะป้องกันความเสี่ยง

ขณะที่เงินปอนด์ สเตอร์ลิงของอังกฤษอ่อนค่าลงถึง 16.9% และเงินยูโรอ่อนค่าลง 13.6% ่อ่อนค่าต่ำกว่าเงินดอลลาร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 0.9790 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ  

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมของปัจจัยพื้นฐานของเงินบาทยังดี แต่การอ่อนค่าของเงินบาทนั้น มาจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ประกอบกับ ท่าทีของเฟด ที่ยังดึงเงินเฟ้อไม่อยู่

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

จึงทำให้ตลาดประเมินว่า มีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในรอบการประชุมในเดือนธันวาคม 2565 (เป็นครั้งที่ 5) ต่อเนื่องจากที่คาดว่า จะปรับขึ้นในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 0.75% ทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าและเป็นแรงหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลสหรัฐ) ปรับเพิ่มขึ้น

 

ขณะเดียวกัน แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเซีย ยังเผชิญความเสี่ยงจากท่าทีของเฟดทำให้ภาพรวมเอเซียสกุลเงินอ่อนค่าลง โดยไม่มีประเทศผู้นำในฝั่งเอเซีย อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม เงินหยวนพลิกกลับมาเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับฐานระหว่างวันจากนโยบายภายในของจีน แต่ไม่ได้สะท้อนแนวโน้มว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น

 

“เงินบาทที่อ่อนค่ายังส่งผลต่อผู้นำเข้า โดยที่แบงก์ชาติดูแลลดความผันผวนเป็นระยะๆ แต่เนื่องจากภาพรวมสกุลเงินในประเทศภูมิภาคอ่อนค่า ดังนั้นคงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกและปัจจัยที่อยู่ในตลาด หลักๆ ธปท.ไม่ได้กำหนดเป้าหมายและระดับค่าเงินไว้ ส่วนแนวโน้มช่วงที่เหลือยังเห็นฟันด์โฟลว์ไหลออก โดยเฉพาะ ถ้าเฟดยังไม่จบรอบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย”นางสาวกาญจนากล่าว

 

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย(ฟันด์โฟลว์) ตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565 พบว่า นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทย 50,335 ล้านบาท แต่ยังคงมีสถานะซื้อสุทธิสะสมในตลาดหุ้น 142,233 ล้านบาท

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า  แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสจะอ่อนไปแตะ 39 บาทต่อดอลลาร์ เพราะสกุลเงินทุกประเทศ ทั้งภูมิภาคเอเซียอ่อนค่าลงกันถ้วนหน้า เพราะมาจากปัจจัยการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สัญญาณขายสุทธิพันธบัตรต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

 

“แบงก์ชาติคงไม่เข้ามาแทรกแซงให้ค่าเงินบาทกลับทิศทาง แต่โดยหลักแล้ว แบงก์ชาติคงช่วยลดความผันผวนของค่าเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการปิดความเสี่ยงได้ทัน เพราะฉะนั้นในช่วงตลาดผันผวน เรายังแนะนำให้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ก่อน” นายพูนกล่าว

 

ส่วนฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกจากตลาดบอนด์นั้น ปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมองว่า มีโอกาสที่จะเห็นแรงขายบอนด์ระยะยาวต่อได้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% ต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยเผชิญแรงเทขายจากบรรดานักลงทุนต่างชาติมากขึ้นได้เช่นกัน

 

ขณะเดียวกันฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกจากตลาดบอนด์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทช่วงนี้ แต่มองว่า ผู้เล่นบางส่วนก็เตรียมรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะยีลด์ขึ้น ส่วนผู้เล่นต่างชาติ หากจะกลับมาอาจจะรอให้เงินบาทเริ่มนิ่งก่อน ถึงจะทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวไทย

 

“ปัจจุบัน หากแปลงเป็นยีลด์ในสกุล USD ก็เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น ส่วนตัวมองว่า นักลงทุนต่างชาติก็อยากมาซื้อบอนด์ แค่ค่าเงินมันยังสวิงไปทางอ่อน ถ้าไม่ทะลุ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ คิดว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมา” นายพูนกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,829 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565