ตลท. รับ ภาษีขายหุ้น กระทบตลาดหุ้นไทย เร่งหารือ บล.เตรียมรับมือ

29 พ.ย. 2565 | 22:43 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 00:05 น.

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลท. ยอมรับภาษีขายหุ้น กระทบความสามารถแข่งขันตลาดหุ้นไทย จากนี้เตรียมหารือ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย บล. กางแผนรับมือ

จากกรณี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...  หรือ ภาษีขายหุ้น โดย จะเก็บภาษีในอัตรา 0.11% ตามกฎหมายเดิม หลังจากยกเว้นให้มานาน ซึ่งในปีแรกจะจัดเก็บในอัตราเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ 0.055% โดยจะให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือนก่อนเริ่มเก็บจริง นั้น 

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ยอมรับว่าการเก็บภาษีขายหุ้น มีผลกระทบบ้าง แต่เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลจึงต้องต้องปฏิบัติตาม ซึ่ง ตลท. ในฐานะตัวกลางจะต้องหารือร่วมกับบริษัทสมาชิก และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อไม่ให้ผลของการจัดเก็บภาษีกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้มองว่า ยังมีภาษีอีกหลายส่วน ที่สามารถจัดเก็บเพื่อเป็นรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นได้ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อดีตเคยเก็บ 30% และลดลงมาเหลือ 20% ภาษีอื่นๆ ที่เรายังเก็บในระดับที่ต่ำอยู่

 

ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท.กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย จะเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรม และ จะเตรียมกระบวนการรองรับจัดเก็บภาษีขายหุ้นเพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่าหากมีการเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในอัตรา 0.1% จริง จะกระทบต่อปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจาก จะทำให้นักลงทุนมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการเก็บภาษี 0.1% เพิ่มเข้ามา ซึ่งการซื้อขายหลักทรัพย์มีค่าธรรมเนียมอยู่แล้วที่ 0.11%  

 

จึงคาดว่าจะทำให้นักลงทุนรายใหญ่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 2-5 เท่าตัว และนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นราว 60% ซึ่งต้องดูต่อไปว่า การเก็บภาษีขายหุ้น จะครอบคลุมในส่วนของธุรกรรมที่ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียม เช่น Derivative Warrants (DW), Block trade ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากมีการเก็บทั้งหมด จะเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)

 

 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเก็บภาษีในปีแรกที่อัตรา 0.55% คาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขาย 20-30% หรือลดลงไม่เกิน 10% ตามผลการศึกษาของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)  

 

โดยเชื่อว่าผลกระทบอาจไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้ เนื่องจาก ภาครัฐยังมีเวลาให้ปรับตัว กว่าจะเก็บอัตราสูงสุดที่ 0.11% ราววันที่ 1 เม.ย.66 และ การเก็บภาษีแบบขั้นบันไดจะเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนจากที่เทรดซื้อขายบ่อย เป็นการซื้อแล้วถือหุ้นขนาดกลางและใหญ่มากขึ้น


ทั้งนี้ มองว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ และ นักลงทุนรายใหญ่ เป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงนักลงทุนที่ชอบหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งหากตลาดมีสภาพคล่องน้อยลง ก็จะทำให้ราคาไม่ค่อยเคลื่อนไหว และยังเป็นอุปสรรคต่อ สินค้าใหม่ บริษัทจดทะเบียนใหม่ และนักลงทุนใหม่ รวมถึงกระแสลงทุนต่างชาติ