ภาษีขายหุ้น คืออะไร
ภาษีขายหุ้น หรือ Transaction Tax เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax) โดยจะคิดคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเดิมประเทศไทย เคยมีการเก็บภาษีขายหุ้น ในอัตรา 0.1% มาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 โดยขณะนั้น เรียกว่า ภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ และ ได้มีการยกเว้นไป ในปี 2525 ก่อนจะกลับมาเก็บอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2534 ภายใต้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 โดยมีบทบัญญัติให้การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยคิดจาก รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของการขายหลักทรัพย์ และได้มีการยกเว้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2535
ใครต้องเป็นผู้จ่าย ภาษีขายหุ้น
ใน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 มีบทบัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะคือ ผู้ขาย แต่สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ (Broker) มีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี แทนผู้ขายในนามตนเอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก และให้ถือว่า Broker เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีด้วย
คิดคำนวณ อย่างไร
ภาษีขายหุ้น หรือ Transaction Tax จะมีการคิดคำนวณ ตั้งแต่บาทแรกที่มีการขาย โดยในช่วง 90 วันแรกนี้ จะจัดเก็บในอัตรา 0.055% หลังจากนั้น จึงจัดเก็บในอัตรา 0.1% ตามกฎหมายเดิม หมายความว่า ในช่วง 90 วันแรกของการบังคับใช้ หากนักลงทุนขายหุ้น 100 บาท ก็จะเสียภาษี 0.055 บาท หรือขายหุ้น 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษี 550 บาท และเมื่อพ้น 90 วันไปแล้ว ก็จะเสียภาษีการขายหุ้นอยู่ที่ 0.1% คือ หากขายหุ้น 1,000,000 บาท ต้องเสียภาษีขายหุ้น 1,000 บาท
เท่ากับว่า หากนักลงทุนขายหุ้น 100 บาท ก็จะเสียภาษี 0.055 บาท หรือขายหุ้น 1,000 บาท ก็จะเสียภาษี 0.55 บาท หรือขายหุ้น 10,000 บาท ก็จะเสียภาษี 5.5 บาท หรือขายหุ้น 100,000 บาท ก็จะเสียภาษี 55 บาท หรือขายหุ้น 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษี 550 บาทนั่นเอง ส่วนปีต่อ ๆไป ก็จะจัดเก็บที่ “ล้านละ 1,000 บาท”
ทั้งนี้ ปัจจุบันการซื้อขายหุ้นในตลาดประเทศไทย มีการจัดเก็บภาษีชนิดอื่นด้วย ได้แก่ ภาษีท้องถิ่น ในอัตรา0.01% , ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% ของมูลค่าค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมซื้อหุ้น หรือขายหุ้นก็ตาม