ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับตัวเลขประมาณการจีดีพีปี 2566 มาที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมที่อยู่ในกรอบ 3.2-4.2% แม้ว่าจะปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2565 จาก 2.9% มาที่ 3.2%
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในยุโรปด้วย
ขณะที่ แนวโน้มที่จีนจะเปิดประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีหน้ามีมากขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ในจีนหลังจากนี้ ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และความเพียงพอของระบบสาธารณสุข เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อสถานการณ์การเปิดประเทศของจีนดังกล่าว โดยยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ที่ 3.2%
"เศรษฐกิจโลกถดถอยมีน้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอส่งออกของไทย แม้เศรษฐกิจโลกไม่ได้ถดถอยรุนแรง แต่บางไตรมาสจะเห็นการหดตัว ส่วนจีนแม้จะเปิดประเทศหลังไตรมาส1 แต่เริ่มเห็นการกลับมาติดเชื้อในเซี่ยงไฮ้หลังยกเลิกล็อกดาวน์ เราจึงต้องติดตามระหว่างทาง เพราะอาจไม่ส่งผลบวกแบบหนึ่งต่อหนึ่ง"
ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น มองว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ไปแตะระดับ 5.0% หรืออาจสูงกว่านั้น ก่อนที่จะมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงตลอดทั้งปี 2566
ขณะที่ กนง.มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ซึ่งย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นเช่เดียวกัน
ด้านแนวโน้มเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากตลาดรับรู้ความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว
สำหรับภาคการเงิน ภาพแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยปี 2566 คาดว่าจะเติบโตในกรอบจำกัด ราวร้อยละ 4.2-5.2 (ค่ากลางร้อยละ 4.7) เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะโตร้อยละ 5.0 ตามผลของเศรษฐกิจที่เผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง
ขณะที่ ทิศทางที่ระมัดระวังดังกล่าว ยังสะท้อนผ่านมุมมองต่อคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่าสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม น่าจะยังไม่ได้ดีขึ้นจากปี 2565 นัก โดยเอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในกรอบร้อยละ 2.55-2.80 เทียบกับร้อยละ 2.65-2.75 ที่คาด ณ สิ้นปี 2565
เตือนธุรกิจฝ่าโจทย์รุมเร้า "ดันต้นทุนกดรายได้"
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจไทยปี 2566 นั้น มองว่ายังเผชิญหลายโจทย์รุมเร้า
โดยฝั่งต้นทุน จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้า ค่าแรง และดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ขณะที่ ฝั่งรายได้จะถูกกระทบจากการที่เศรษฐกิจแกนหลักของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและเงินบาทแข็งค่า จนฉุดความต้องการสินค้าส่งออกไทย
นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงทำให้การฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจในปี 2566 ยังมีลักษณะเป็น K-Shaped โดยธุรกิจที่นำการฟื้นตัว จะเป็นโรงแรมและร้านอาหาร โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงค้าปลีก
ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า หรือหดตัว ได้แก่อสังหาริมทรัพย์ และส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยยังมีโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ชัดขึ้น โดยคู่ค้าของไทยจะเข้มงวดเรื่องเกณฑ์ต่างๆ มากขึ้น
โดยเฉพาะมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) จากฝั่งยุโรป และความพยายามของไทยที่ทำให้คำนิยามกลางและแนวทางขับเคลื่อน (Green Taxonomy) มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งธุรกิจไทยต้องเร่งศึกษาและปรับตัว เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว