หน่วยงานกำกับดูแลการเงินของสหรัฐสั่งปิดกิจการ ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นให้บริการเงินกู้แก่บรรดาบริษัทสตาร์ทอัพเมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) หลังจากที่ธนาคารดังกล่าวเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรงจนลูกค้าแห่ถอนเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อ 2551
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับการเงินแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียได้แต่งตั้งให้บรรษัทประกันภัยเงินฝาก (Federal Deposit Insurance Corporation) หรือ FDIC ซึ่งเป็นสถาบันของรัฐบาลสหรัฐที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของธนาคารพาณิชย์ เข้ามาเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ของธนาคาร SVB โดย FDIC จะทำการขายสินทรัพย์(liquidate)ของธนาคาร SVB เพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและบรรดาเจ้าหนี้ธนาคารด้วย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานใหญ่และสาขาต่างๆ ของ SVB จะกลับมาเปิดให้บริการในวันที่ 13 มี.ค.นี้ โดยผู้ฝากเงินที่มีประกันจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนในส่วนที่ได้รับความคุ้มครอง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บัญชีไม่เกินเช้าวันจันทร์ (13 มี.ค.)และธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าให้แก่ผู้ฝากเงินที่ไม่มีประกันภายในสัปดาห์หน้า
SVB นับเป็นสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และกลายมาเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา (2565) พบว่าธนาคารมีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม สัญญาณการล่มสลายของ SVB เริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อวันที่ผ่านมา (8 มี.ค.)หลังจากที่ธนาคารเริ่มเทขายพันธบัตรและสินทรัพย์ออกมาในราคาขาดทุน 1,800 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน 2,225 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวของธนาคาร SVB ทำให้บรรดาลูกค้าที่ถือบัญชีธนาคารอยู่ เกิดความตื่นตระหนกจนพากันแห่ถอนเงินออกอย่างรวดเร็ว
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปิดธนาคาร SVB ไม่เพียงถูกมองว่าเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเกิดกรณีการล้มครืนของธนาคารวอชิงตัน มิวชวล (Washington Mutual)แต่ยังถือเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (retail bank) ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐที่ต้องปิดตัวลง
สำนักข่าว CNN รายงานว่า นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้เรียกประชุมหน่วยงานกำกับดูแลด้านธนาคารของสหรัฐเป็นการด่วนโดยทางกระทรวงได้แถลงว่า นางเยลเลนเชื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลกิจการธนาคารของสหรัฐจะมีมาตรการตอบสนองอย่างเหมาะสม และย้ำว่าระบบการเงินของสหรัฐยังคงยืดหยุ่น และมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือสถานการณ์เช่นนี้
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่า การล่มสลายของธนาคาร SVB อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโนไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซีที่กำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องอยู่เช่นกัน
ความกังวลนี้เริ่มมีเค้าจะเป็นจริง เมื่อบริษัท Circle Internet Financial Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของเหรียญ Stablecoin USDC หนึ่งในเหรียญดิจิทัลยักษ์ใหญ่รองจาก USDT Tether ออกมาเปิดเผยว่าบริษัทมีสินทรัพย์รวมกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์ ที่ฝากอยู่ในธนาคาร SVB
ข่าวการล่มสลายของ SVB และความไม่เชื่อมั่นที่เกิดขึ้นทำให้ล่าสุดราคาของ USD Coin ซึ่งซื้อขายภายใต้สัญลักษณ์ USDC ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ ลดลงเหลือ 0.9850 ดอลลาร์ในเย็นวันศุกร์ (10 มี.ค.)ณ ตลาดนิวยอร์ก จากนั้น ณ เวลา 18.45 น.ของวันที่ 11 มี.ค.ได้ดิ่งลงมาอยู่ที่ 0.9111 ดอลลาร์ หรือปรับตัวลดลง -8.88%
ด้านนายโรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้แต่งหนังสือ "พ่อรวยสอนลูก"ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับระบบการเงินของสหรัฐ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการปิดตัวของธนาคาร SVB และธนาคารซิลเวอร์เกตแบงก์ (Silvergate Bank)ที่ถูกประกาศเลิกกิจการในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหลายคนที่มองว่าสถานการณ์จะเลวร้ายมากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมเตือนถึงแนวโน้มที่ว่า ยังมีธนาคารแห่งที่ 3 ในสหรัฐที่กำลังจะล้มละลาย
คิโยซากิกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะเหมือนกับการคาดการณ์การล้มละลายของเลห์แมนบราเธอร์สในปี 2551 “ธนาคารยักษ์ใหญ่ 2 แห่งเกิดล้มละลาย และแห่งที่ 3 กำลังตามมา ซื้อทองคำและแร่เงินเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่กองทุน ETFและเมื่อธนาคารแห่งที่ 3 เกิดล้มละลายมูลค่าของทองคำและแร่เงินจะสูงขึ้น ในปี 2008 (พ.ศ.2551) ผมเคยคาดการณ์การล้มละลายของเลห์แมนฯ กับสื่อ CNN หากคุณต้องการหลักฐานให้ไปดูที่เว็บ RICH DAD.com”
คิโยซากิยังเตือนถึงอนาคตของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse)
ที่มีบทบาทสนับสนุนธุรกรรมคริปโต โดยก่อนหน้านี้ธนาคารได้มีการเลื่อนรายงานประจำปีหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)สหรัฐ เรียกงบกระแสเงินสดของผู้ให้กู้ของปี 2019 และ 2020
เขาได้คาดการณ์เชิงติงเตือนว่า เศรษฐโลกใกล้พัง และแนะนำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในแร่เงินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น
ด้านนายปีเตอร์ ชิฟ นักเศรษฐศาสตร์ ได้กล่าวว่าระบบธนาคารของสหรัฐกำลังจะเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่ “ระบบธนาคารของสหรัฐกำลังจะเผชิญกับวิกฤตที่ใหญ่กว่าเมื่อปี 2551 ธนาคารส่วนใหญ่เป็นเจ้าของตราสารหนี้ระยะยาวมีที่ดอกเบี้ยต่ำมาก ไม่สามารถแข่งขันกับตราสารหนี้ระยะสั้นได้ ทำให้เกิดการถอนเงินจำนวนมากจากผู้ฝากเงินที่ต้องการผลตอบแทนสูง และสิ่งนี้ทำให้ธนาคารเจอกับวิกฤตทางการเงิน”
ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในภาคส่วนธนาคาร ชัดเจนขึ้นหลังจากเหตุการณ์การล้มละลายของธนาคารซิลเวร์เกต ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารที่สนับสนุนคริปโต การล้มละลายของธนาคารจะส่งผลกระทบไปยังตลาดคริปโต ซึ่งทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจำนวนมากจากตลาดคริปโต
ในขณะเดียวกัน ธนาคาร SVB ซึ่งเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่อันดับที่ 16 ในอเมริกา ที่เพิ่งถูกสั่งปิดและถูกควบคุมดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแล ก็เป็นหนึ่งในธนาคารที่สนับสนุนคริปโตเช่นกัน
และดังกล่าวมาแล้วข้างต้น การปิดตัวของธนาคาร SVB ส่งผลโดยตรงกับเหรียญ USDC โดยทางบริษัท Circle ที่เป็นเจ้าของเหรียญ เปิดเผยว่ามีเงินทุนสำรองส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้ที่ธนาคาร SVB ทำให้ราคาของเหรียญ USDC หลุด Peg ลงมาที่ 0.91 ดอลลาร์
สรุปไทม์ไลน์ กรณีธนาคาร SVB ในสหรัฐปิดกิจการ
ที่มา : CNN, AFP, Bloomberg