ผ่าปม STARK แต่งบัญชี พบมือการเงินนั่งบอร์ด 3 บริษัทลูกเจ้าปัญหา

18 มิ.ย. 2566 | 10:07 น.
อัพเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 10:08 น.

ผ่าปม 2 บริษัทลูก “STARK”  เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง - ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล  ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งบัญชีกว่า 1 หมื่นล้าน พบ มือการเงิน นั่งกรรมการบริษัทลูกเจ้าปัญหา 3 แห่ง ก่อนถูกเปลี่ยน

ความผิดปกติในการจัดทำบัญชีของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ "เฟ้ลปส์ ดอด์จ" ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่ามี 2 บริษัทเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ  บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม STARK

ผ่าปม “เฟ้ลปส์ ดอด์จ”บริษัทลูก STARK แต่งบัญชี

ประเด็นสำคัญที่ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้ตรวจสอบพบ คือ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริงเป็น 5,005 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 923 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 แต่เงินที่รับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจาก บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ STARK รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม STARK

นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติเกี่ยวกับการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ จำนวน 3 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 10,451 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65 ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี

โดยเฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้บันทึกทางบัญชีระบุว่าในระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้รับเงินจากการขายสินค้าในปี พ.ศ. 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม 2 รายการ จำนวน 2,034 ล้านบาท และ 4,052 ล้านบาท แต่จากเส้นทางการเงินกลับพบว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

เจาะ “เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง”

บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 ราย ดังนี้

  • บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำนวน 45,012,869 หุ้น 60%
  • นายกิจจา คล้ายวิมุติ จำนวน 187,500 หุ้น 37.50 %
  • นายประเสริฐ คล้ายวิมุติ จำนวน 12,500 หุ้น 2.50 %

สำหรับ กรรมการ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ล่าสุด ได้แก่ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ และ นายกิจจา คล้ายวิมุติ โดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม คือ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือ นายกิจจา คล้ายวิมุติ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ รวมเป็นสองคนและประทับตราสำคัญของบริษัท

สำหรับ นายวิฑูรย์ สุริยารังสรรค์ เพิ่งเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทเมื่อปี 2566 หลังจากกรรมการ 3 คนลาออกในปี 2566 ประกอบด้วย นางสาวยสบวร อำมฤต , นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ , นายสมนึก ศุภกุลกิตติวัฒน์

ส่วนบริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จดทะเบียน ตั้งบริษัทเมื่อวันที่  2 เม.ย. 2555 วัตถุประสงค์ การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่ เพื่อเป็นที่พักอาศัย ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยมี นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  35,999,998 หุ้น  นายสุวัฒน์ เชวงโชติ และนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต คนละ 1 หุ้น

ส่วนกรรมการบริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบด้วย นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ , นายสุวัฒน์ เชวงโชติ , นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต โดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ได้แก่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท

บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด แจ้งงบการเงินล่าสุดต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2560 มีสินทรัพย์รวม 2,975 ล้านบาท รายได้รวม 73.5 ล้านบาท ขาดทุน 119.6 ล้านบาท

ประเด็นที่น่าสังเกตุคือ หนึ่งในกรรมการที่ออกจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หลังจากผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจพบความผิดปกติ เคยเป็นกรรมการ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทลูกของ STARK คือ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ

ขณะที่ก่อนหน้าการตรวจพบความผิดปกติพบว่า กรรมการในบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไม่มีชื่อ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ หรือ กรรมการบริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง เข้าไปเป็นกรรมการแต่อย่างใด

เจาะ “ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล”

บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งในไทย วัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้า มีบริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2  ถือหุ้น 99.99% เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท โดยบริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2 จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย วัตถุประสงค์ลงทุนในบริษัทอื่น มี เฟ้ลปส์ ดอด์จ บริษัทลูกของ STARK ถือหุ้น 99.99% เงินลงทุน 740.60 ล้านบาท

ส่วนกรรมการบริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก่อนหน้าผู้ตรวจสอบบัญชีพบปัญหา บริษัทมีกรรมการ ประกอบด้วย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ , นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ , นายชินวัฒน์ อัศวโภคี , นายนิรุทธ เจียกวธัญญู , นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ , โดยกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม คือนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ หรือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ หรือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี สองในสามคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท หรือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ หรือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ หรือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี คนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อ

อย่างไรก็ตามหลังผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบพบความผิดปกติ ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการชุดใหม่ ประกอบด้วย  นายเสรี ยุทธนาวราภรณ์ , นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต (กรรมการบริษัทบริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด) โดยกรรมการลงชื่อผูกพัน ได้แก่ นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต ลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท

เป็นที่น่าสังเกตุว่า กรรมการบริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก่อนหน้าผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบพบความผิดปกติ 4 คน นั่งเป็นกรรมการใน เฟ้ลปส์ ดอด์จ ในช่วงที่เกิดปัญหาความผิดปกติของงบการเงิน ดังนี้ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ , นายนิรุทธ เจียกวธัญญู , นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ , นายชินวัฒน์ อัศวโภคี

เมื่อดูรายชื่อกรรมการและบุคคลที่บริหารอยู่ในช่วงที่มีความผิดปกติในการจัดทำบัญชีในบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบว่า มีชื่อนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ เป็นกรรมการทั้ง 2 บริษัท ที่สำคัญนายศรัทธา ยังเคยเป็น กรรมการ STARK และประธาน เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และเลขานุการบริษัท STARK นอกจากนี้ยังเคยนั่งเป็นกรรการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน เฟ้ลปส์ ดอด์จ ในช่วงที่เกิดปัญหาด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้ามาเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชีว่า บริษัทได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด