กรณีบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชีพบความผิดปกติในการจัดทำบัญชีของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (เฟ้ลปส์ ดอด์จ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มี "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริง 5,005 ล้านบาทในปี 2565 และจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งกว่า 10,451 ล้านบาท
ความผิดปกติการจัดทำบัญชีของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ
ประเด็นที่ 1 เฟ้ลปส์ ดอด์จ ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 5,005 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 923 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และรายได้จากการขายและลูกหนี้การค้า (สุทธิจากภาษีขาย) สูงเกินความเป็นจริงเป็นจำนวน 97 ล้านบาท ก่อนปี พ.ศ. 2564 ส่งผลให้มีการรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้การค้าในปี พ.ศ. 2565 สูงเกินจริงเป็นจำนวนเงิน 1,890 ล้านบาท
เงินที่รับชำระหนี้จากลูกหนี้การค้าไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าแต่ละรายจริง แต่เป็นการรับชำระเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ
ประเด็นที่ 2 รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ จำนวน 3 ราย เป็นจำนวนเงินรวม 10,451 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65 ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี โดยมีการจ่ายเงินออกไปจริง แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าทั้ง 3 ราย แต่เป็นการโอนเงินออกไปให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง
เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้บันทึกบัญชีว่าได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายราย ในระหว่างเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งบันทึกทางบัญชีระบุว่าได้รับเงินจากการขายสินค้าในปี พ.ศ. 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในประเทศเวียดนาม 2 รายการ จำนวน 2,034 ล้านบาท และ 4,052 ล้านบาท แต่จากเส้นทางการรับชำระเงินพบว่าเป็นการโอนเงินจากบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง
ประเด็นที่ 3 รายการสินค้าคงเหลือที่แสดงในรายงานสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีปริมาณสินค้าคงเหลือหลายรายการแสดงปริมาณ (quantity) ติดลบ คิดเป็นเงินรวม 1,375 ล้านบาท แต่เฟ้ลปส์ ดอด์จ บันทึกกลับรายการต้นทุนขายและสินค้าคงเหลือสำหรับรายการขายที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง เป็นจำนวนเงิน 2,222 ล้านบาท และ 91 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2564 และก่อนปี พ.ศ. 2564 ตามลำดับ
ประเด็นที่ 4 รายงานอายุลูกหนี้ (aging report) ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2564 ก็ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลวันที่ในใบแจ้งหนี้และ/หรือวันครบกำหนดชำระในรายงานอายุลูกหนี้ไม่สอดคล้องกับใบกำกับการขาย (sales invoice) ข้อผิดพลาดดังกล่าวมีผลต่อการคำนวณค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตของลูกหนี้การค้า ซึ่งมีผลทำให้การบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตจากลูกหนี้การค้าต่ำไปหรือกำไรสุทธิสูงไป 65 ล้านบาท และ 729 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2564
หากดูจากหมายเหตุประกอบงบการเงินและงบการเงินเฉพาะกิจ ปี 2565 ของผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า ความผิดปกติทางบัญชีที่เกิดขึ้นกับ เฟ้ลปส์ ดอด์จ มี 2 บริษัทเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ใครเกี่ยวข้องกับ เฟ้ลปส์ ดอด์จ บ้าง?
จากการตรวจสอบของฐานเศรษฐกิจ ผ่านระบบ Creden Data พบว่า บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2511 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 1,900 ล้านบาท วัตถุประสงค์ ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าที่ทำจากลวดทองแดงและอลูมิเนียม มีเงินลงทุน ณ สิ้นปี 2565 จำนวน 13,132.17 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้น เฟ้ลปส์ ดอด์จ
กรรมการ เฟ้ลปส์ ดอด์จ
กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้แก่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และ นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท
จากการตรวจสอบงบการเงินล่าสุด ณ สิ้นปี 2565 พบว่า เฟ้ลปส์ ดอด์จ มีบริษัทลูก3 บริษัท และบริษัทย่อยของบริษัทลูกอีกหลายแห่งวงเงินลงทุนรวมกว่า 8,427 ล้านบาท ดังนี้
บริษัทลูกของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ
บริษัทย่อยภายใต้ PD Cable (SG) PTE. LTD.
บริษัทย่อยภายใต้บริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2 จำกัด
บริษัทย่อยภายใต้บริษัท PD Investments (Germany) GmbH & Co. KG
บริษัทย่อยภายใต้บริษัท PD (Germany) Holdings GmbH
แหล่งข่าวจาก STARK เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ประเด็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเฟ้ลปส์ ดอด์จ เป็นผลมาจากการที่บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับงบการเงินของ STARK และบริษัทลูกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา จนได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกรรมการครั้งสำคัญใน STARK และบริษัทลูก รวมถึง เฟ้ลปส์ ดอด์จ
โดยกลุ่มของนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ที่นั่งเป็นประธาน และเป็นคีย์แมนคนสำคัญในการบริหาร เฟ้ลปส์ ดอด์จ มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2558 ได้ลาออกพร้อมกับกรรมการคนอื่นอีก 7 คน จากนั้นได้มีการแต่งตั้งกรรมการเข้ามาใหม่ 4 คน โดยนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ที่เคยเป็นกรรมการแต่ไม่ได้เข้าไปบริหาร ก็เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหารงานด้วยตัวเอง
สำหรับกรรมการเฟ้ลปส์ ดอด์จ 8 คนที่ออกไปในปี 2566 ประกอบด้วย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ , นายทรงภพ พลจันทร์ , นายกุศล สังขนันท์ , นายประกรณ์ เมฆจำเริญ , นายนิติ จึงนิจนิรันดร์ , นายนิรุทธ เจียกวธัญญู , นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ , นายชินวัฒน์ อัศวโภคี
ส่วนกรรมการเฟ้ลปส์ ดอด์จ 4 คนที่แต่งตั้งเข้ามาใหม่ ประกอบด้วย นายอรรถพล วัชระไพโรจน์ , นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต , นายปกรณ์ สุชีวกุล , นายอภิวุฒิ ทองคำ
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ภายหลังนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้ามาเป็นรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการตรวจสอบความผิดปกติทางบัญชีว่า บริษัทได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด
ตอนต่อไปฐานเศรษฐกิจ จะเจาะลึกบริษัทที่ถูกระบุว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับความผิดปกทางบัญชีของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ อีก 2 บริษัท คือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด