มติกนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 2.50% ต่อปี

29 พ.ย. 2566 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 07:38 น.

มติกนง. ล่าสุด 29 พ.ย. 66 มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี พร้อมปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยขยายตัว 2.4% ในปี2566 ส่วนปี2567 อยู่ที่ 3.2% หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8% ลดลงจาก 4.4%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง โดยในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

มติกนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 2.50% ต่อปี

พร้อมประมาณการเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 2.4% และ 3.2% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราการขยายตัวในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.4 ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว แต่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 2.0 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากร้อยละ 2.6 จากประมาณการครั้งก่อน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน และราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.2 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ต้องติดตามพัฒนาการของคุณภาพสินเชื่อที่อาจได้รับแรงกดดันจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า

คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจเริ่มทรงตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าสอดคล้องสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย

โดยอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ