"แก้หนี้นอกระบบ" กลายเป็นวาระแห่งชาติ เป็นปัญหาใหญ่ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมต.คลัง เปรียบเป็น "การค้าทาสยุคใหม่" โดยแผนแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลคือเปิดให้ลูกหนี้มาลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป
จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นตัวกลางเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ พร้อมเงื่อนไขคือ "เจ้าหนี้นอกระบบ" ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี และยังมีสินเชื่อจากธนาคารรัฐเตรียมปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ เพื่อนำไปแก้ปัญหาหนี้เก่า เสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ หรือเพื่อรักษาที่ดินทำการเกษตรเอาไว้เพื่อทำกินต่อไป
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ "โค้ชหนุ่ม" จักรพงษ์ เมษพันธุ์ คนที่หลายๆคนรู้จักเขาในฐานะ "โค้ชการเงิน" เพื่อพูดคุยถึงมุมมอง และวิเคราะห์มาตรการ "แก้หนี้นอกระบบ" ของรัฐบาล ในครั้งนี้
โค้ชหนุ่มให้คำอธิบายหนี้นอกระบบเอาไว้ว่า คือหนี้ที่ไม่ผูกพันกับสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สหกรณ์ หรือสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ โดยแบ่งเจ้าหนี้นอกระบบได้เป็น 3 กลุ่ม ด้วยกัน คือ
1. เพื่อนยืมเงินเพื่อน ซึ่งอาจไม่มีการคิดดอกเบี้ย
2. การมีตัวกลางหาแหล่งกู้เงินในองค์กร บริษัท หน่วยงานต่างๆ
3. กลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่ทำธุรกิจปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราสูง
ดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบของ 2 กลุ่มหลัง จะมีอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยการปล่อยกู้ แบบมีตัวกลาง กู้ในหมู่คนรู้จักกัน บอกต่อๆกัน อาจคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 5-10% ต่อเดือน หรือเป็น 60-120% ต่อปีโดยประมาณ
แต่หากเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 20% ต่อเดือน หรือคิดต่อวันที่ 2-5% หรือยืม 10,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย วันละ 500 บาท ซึ่งถือว่าโหด
ในบางเคสที่เจ้าหนี้อาจเป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นเจ้านาย หากเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ก็อาจสร้างความลำบากใจ หรือมองหน้ากันไม่ติด กรณีเช่นนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่ที่ต้องตั้งข้อสังเกตก็คือเจ้าหนี้ที่เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล บางครั้งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกลายเป็นเจ้าหนี้นอกระบบเสียเองด้วยซ้ำ ซึ่งหากมีความตั้งใจจะแก้ปัญหาก็ต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดให้ได้แบบนี้
สำหรับแนวทางที่รัฐบาลเสนอออกมานั้นมองว่ามีประโยชน์แต่จะช่วยได้มากหรือน้อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกลุ่มที่แก้ปัญหาได้ยากที่สุดคือกลุ่มเจ้าหนี้ที่เป็นผู้มีอิทธิพล เพราะลูกหนี้เองอาจไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการของภาครัฐ
ความยากในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โค้ชหนุ่มอธิบายว่าคือ การวางมาตรฐานดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ไม่เกิน 15% เพราะเมื่อมีการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาไกล่เกลี่ย รัฐบาลอาจไม่ได้พบการคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ในสัญญากู้ยืมแต่อย่างใด
โดยเจ้าหนี้จะใช้วิธีเขียนเงินต้นเกินไปจากจำนวนเงินที่กู้ยืมจริง เช่น ลูกหนี้กู้ยืม 100,000 บาท เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ย 30% แต่ในสัญญาเงินกู้จะระบุดอกเบี้ยเพียง 15% แต่เงินต้นจะกลายเป็น 200,000 บาท
และอีกหนึ่งรูปแบบของการปล่อยเงินกู้นอกระบบคือ กู้ 10,000 บาท แต่เจ้าหนี้จะหักดอกเบี้ยทันที 2,000 บาท ลูกหนี้จะได้เงินไปเพียง 8,000 บาทเท่านั้น การปล่อยกู้ลักษณะนี้ไม่มีสัญญากู้ยืม แต่มีบันทึกการผ่อนชำระเป็นสมุดโน้ตแผ่นเล็กๆ ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้ก็จะฉีกสมุดนั้นทิ้งและเริ่มต้นนับหนึ่งการผ่อนชำระใหม่
สำหรับการเข้าไป แก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล ส่วนตัวมองว่ามีประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 2 ที่อาจเก็บดอกเบี้ยไปเกินเงินต้นแล้ว ยกตัวอย่างเคสที่เคยเจอในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แถวจังหวัดระยอง ลูกหนี้กู้เงิน 20,000 บาท ถูกคิดดอกเบี้ย 10% ต่อเดือนเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท ปรากฏว่าลูกหนี้ผ่อนแต่ดอกเบี้ยมาเป็นเวลานาน 2 ปีเต็มๆ คือ จ่ายแต่ดอกเบี้ยไปแล้ว 48,000 บาท แต่เงินต้นยังอยู่เท่าเดิม ลักษณะเช่นนี้รัฐบาลอาจเข้าไปช่วยพูดคุยให้ยุติการจ่ายดอกเบี้ย แล้วชำระเพียงเงินต้นให้หมด ซึ่งมีความเป็นไปได้
โค้ชหนุ่ม พูดถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้คนก่อหนี้นอกระบบนั้นว่า สาเหตุที่ทำให้คนเป็นหนี้นอกระบบมีอยู่ 2 ปัจจัย ข้อแรกคือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้ และข้อที่สองคือ บุคคลที่เป็นลูกหนี้ในระบบเดิม แต่ในวันที่ผ่อนหนี้ไม่ไหว กลับไม่สามารถหาช่องทางเจรจากับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินได้ จึงต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ
สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการพูดถึงมาก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะได้เห็นกันในอีกไม่ช้า ทั้งเรื่อง Risk-based pricing หรือ กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย และการใช้เครดิตทางการเงินที่ เป็นหลักฐานการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ตรงตามกำหนด แทนการใช้สลิปเงินเดือน
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ที่มีอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น แม้อาจมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าผู้ที่ทำงานประจำ แต่ก็ดีกว่าการไปกู้หนี้นอกระบบเพราะวิธีคำนวณใช้คืนหนี้ก็เป็นแบบลดต้นลดดอก
อีกส่วนหนึ่ง คือ "กลุ่มลูกหนี้ในระบบ" ควรได้รับการช่วยเหลือก่อนกลุ่มอื่น เพราะในวันที่ความสามารถในการผ่อนชำระลดลง ต้องมีช่องทางให้ลูกหนี้สามารถเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ได้ เพราะการแก้ปัญหาหนี้สินไม่ใช่เพียงแค่การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้เท่านั้น แต่ต้องมีช่องทางให้เจรจากับเจ้าหนี้ได้ด้วย ซึ่งปัญหาในปัจจุบันคือ ลูกหนี้ในระบบไม่มีช่องทางในการเจรจากับเจ้าหนี้ และยังติดเงื่อนไขว่าหนี้ที่มียังไม่เป็นหนี้เสีย(NPL) ซึ่งนี่คือการผลักไสให้คนออกไปเป็นหนี้นอกระบบ
สุดท้าย"โค้ชหนุ่ม" เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้นอกระบบอย่างจริงจัง จะได้เห็นปัญหาและข้อมูลอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเก็บข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำมาวางแผนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม
สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือความยั่งยืนในการแก้ปัญหา เมื่อประชาชนได้รับสินเชื่อเพื่อแก้หนี้นอกระบบแล้ว ต้องแนะนำวิธีใช้สินเชื่อนั้นด้วย ที่ต้องระวังคือเมื่อลูกหนี้ได้สินเชื่อจากธนาคารรัฐไปแล้ว เจ้าหนี้อาจมาติดตามทวงคืน หรืออาจยึดเงินไปแค่จ่ายดอกเบี้ย แล้วกลายเป็นว่าลูกหนี้ต้องเป็นหนี้ทั้งนอกระบบและกับธนาคาร ไปพร้อมๆกัน
นี่คือสิ่งที่ต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น โดยรัฐต้องให้วิธีการจัดการเงินด้วย ว่าเงินที่ได้ไปนี้ ถูกใช้ไปในการต่อยอด สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างโอกาสเท่าที่จะทำได้ และต้องไม่ให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบเช่นเดิม