"Risk based pricing" ความหวังอาชีพอิสระ หลุดวงจรหนี้นอกระบบ

30 พ.ย. 2566 | 11:05 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2566 | 11:31 น.

"Risk based pricing" กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย ความหวังอาชีพอิสระ หลุดวงจรหนี้นอกระบบ กู้ในระบบได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ต้นตอของปัญหา "หนี้นอกระบบ" ประการหนึ่งคือ การที่ประชาชนอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย เกษตรกร ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ หรือไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นเครดิตทางการเงิน อย่างเช่นสลิปเงินเดือน เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยวางแนวทางเพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือ กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย หรือ Risk-based pricing (RBP) ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เช่น รายได้ไม่สม่ำเสมอ ข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงมีค่อนข้างจำกัด หรือผู้ประกอบธุรกิจประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงเกินกว่าระดับเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน ส่งผลให้ต้องกู้ยืมจากนายทุนนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก

กลไก RBP จะช่วยให้ประชาชนกลุ่มนี้ สามารถเข้าถึงการกู้ยืมในระบบได้ง่ายขึ้น มีสภาพคล่องเพื่อใช้ในการดำรงชีพหรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ

Risk-based pricing (RBP) คืออะไร

คือกลไลในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ด้วยดอกเบี้ยที่สะท้อนตามความเสี่ยงของตนเอง และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่าลูกหนี้ตามปกติ แต่ต่ำกว่าดอกเบี้ยของการกู้นอกระบบ

ลูกค้าเสี่ยงต่ำ หรือมีประวัติการชำระคืนหนี้ที่ดีก็มีโอกาสได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ขณะเดียวกันลูกค้าที่มีประวัติการชำระคืนหนี้ไม่ดี หรือต่อมามีความเสี่ยงสูงขึ้น ก็มี โอกาสจะได้รับการเสนออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเมื่อขอสินเชื่อใหม่เช่นกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้พยายามรักษาวินัยทางการเงินและเห็นผลที่ชัดเจนจากการรักษาวินัยทางการเงิน

ตัวอย่างต่างประเทศที่ใช้กลไก RBP ในการให้สินเชื่อรายย่อย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กลไก RBP ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยผู้ประกอบธุรกิจเสนออัตราดอกเบี้ยตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า รวมทั้งมีการเปิดเผยให้ลูกค้าทราบถึง
ปัจจัยที่ส่งผลให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ พร้อมแนวทางปรับปรุงเพื่อให้ได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้นในอนาคต

หรือกรณีประเทศอินเดีย ที่ได้เริ่มนำกลไก RBP มาใช้กับผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Microfinance ในปี 2565 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพิ่มขึ้น

หนี้นอกระบบ

ประโยชน์ของ Risk-based pricing

  • ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ 
  • ประชาชนกลุ่มนี้มีข้อมูล ประวัติการใช้สินเชื่อในระบบมากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสปรับลดระดับความเสี่ยง และอาจได้รับเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีขึ้นในอนาคต
  • ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจที่ให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsiblelending) ทั้งประเภทสินเชื่อ วงเงิน และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความต้องการ และความสามารถในการชำระหนี้ พร้อมได้รับคำอธิบายข้อมูลอย่างชัดเจนเพียงพอในการตัดสินใจ 
  • เมื่อลูกหนี้เกิดปัญหา ก็ได้รับข้อเสนอความช่วยเหลือที่เหมาะกับสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละรายในขณะนั้น
  • ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น ผ่านการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบ
  • ธุรกิจในตลาดที่ใช้กลไก RBP และเสนออัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้า
  • ผู้ประกอบธุรกิจมีฐานลูกค้าที่หลากหลาย สามารถปล่อยสินเชื่อได้สอดคล้องกับต้นทุน รวมทั้งเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ตรงความต้องการและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
  • ส่งเสริมให้เกิดการปรับพฤติกรรมทางการเงิน และสร้างวัฒนธรรมด้านสินเชื่อที่ดี(good credit culture) ทั้งลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจ 
  • ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประชาชน เพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบ สนับสนุนให้
  • เศรษฐกิจเติบโต และช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยได้อย่างยั่งยืน

ข้อพึงระวังของ Risk-based pricing

  • ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวมีจำนวนเร่งสูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถประเมินความเสี่ยง หรือไม่มีกระบวนการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมรัดกุม
  • ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระคืนหนี้ที่ดีต่อเนื่องยังต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง โดยไม่มีโอกาสได้รับข้อเสนอปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการเปิดแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย และการทดสอบใน Sandbox ผ่านหน้าเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย และระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน-17 ตุลาคม 2566

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)