แบงก์ชาติเปิด 4เหตุผล “ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย”

15 ม.ค. 2567 | 22:15 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 01:50 น.

ธปท.ชี้ "2ปัจจัยฉุดศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง หนี้ครัวเรือนสูง ลดความสามารถรองรับแรงกระแทกจากภายนอก ลั่น! พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจุดยืน หากแนวโน้มของเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คาดปีนี้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย

จากคำถามและเสียงเรียกร้องในประเด็น “เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้ากว่าคาด และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำหรือติดลบ ควรจะลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น

“ธปท.มองดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ คณะกรรมการจะประชุมปลายเดือนม.ค.นี้และประกาศผลกลางเดือนหน้า ตอนนี้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังไปต่อ แต่จะดูปัญหาเชิงโครงสร้างว่าจะมีผลจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างไร หรือจะสร้างปัญหากับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย  แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานจะค่อยๆเพิ่มขึ้น”...

ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการดำเนินนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่น (Inflation Targeting) ทั้งธปท.และธนาคารกลางต่างประเทศดำเนินมานั้น ไม่เพียงแค่ดูเงินเฟ้อระยะสั้น แต่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างหลายปัจจัยอย่างรอบด้านเพื่อดูให้ออกว่า "อะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส" จึงต้องมองไปข้างหน้า และระยะปานกลางเพราะนโยบายการเงินต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจจริง

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ การดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน, อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนและเสถียรภาพของระบบการเงิน

"การใช้นโยบายดอกเบี้ยนั้น มีต้นทุนและเป็นความเสี่ยง จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะความเสี่ยงนั้นไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นความเสี่ยงที่จะสร้างปัญหาตามมาในภายหลังซึ่งยากจะแก้ เช่น การก่อหนี้เกินตัว"

กนง.ติดตามพัฒนาการเชิงโครงสร้างประเมินภาพเศรษฐกิจ

สำหรับปีนี้ แม้จะมองเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างครบครันสมดุลมากขึ้นโดยการกลับมาของอิเล็กทรอนิกส์โลก น่าจะช่วยให้การส่งออกมีแรงส่งมากขึ้นก็ตามแต่ปัญหาเชิงโครงสร้างก็เป็นความเสี่ยงที่ไทยอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศมากเท่าที่ควร โดยคณะกรรมการฯให้ความสำคัญและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และดูพัฒนาการเชิงโครงสร้างเพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจในระยะต่อไป

"เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดและไม่ลดอัตราดอกเบี้ย" เหตุผลหลักของเศรษฐกิจขยายตัวชะลอลง ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในประเทศและปัจจัยต่างประเทศที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อัตราดอกเบี้ยไม่สามารถที่จะเพิ่มความซับซ้อนสินค้าไฮเทคมากขึ้น หรือ ไม่สามารถเพิ่มเสน่ห์การท่องเที่ยวไทย

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจ" ปีที่แล้วนั้นจะมีทั้งสิ่งที่เป็นไปตามคาดและสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาด  โดยสิ่งที่เป็นไปตามคาดคือ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว นำโดยการกลับมาของนักท่องเที่ยว  ภาคบริการ และอุปสงค์ภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมาเกินกว่าช่วงก่อนวิกฤติโควิดแล้ว ไม่ว่าตัวเลขจีดีพี ตัวเลขเงินเฟ้อ หรือจำนวนผู้มีงานทำ แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร เนื่องจากรายได้ผู้ประกอบอาชีพอิสระยังไม่ฟื้นเท่าที่ควรและยังไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจยังโหลดเฉพาะการท่องเที่ยวและภาคบริการ แต่ภาคการผลิตและการส่งออกยังไม่กลับมาเต็มที่

 

ในส่วนของสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาด 3 ส่วนคือ

1. นักท่องเที่ยวแม้จะกลับมาในแง่จำนวนใกล้เคียงที่มองไว้ แต่นักท่องเที่ยวจะอยู่สั้นกว่า และใช้จ่ายน้อยกว่า

2. จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนยังไม่กลับมาตามที่ได้ประเมินไว้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจภายในของจีนเอง 

3. ภาคการผลิต และภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวเร็ว เท่าที่มองไว้ ส่วนหนึ่งเพราะอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวเน้นภาคบริการเป็นหลัก ไม่มีความต้องการซื้อสินค้าจากทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย 

แต่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเป็น ความท้าทายที่ต้องพิจารณาในแง่ศักยภาพของเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งแนวโน้มภาคส่งออกของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า ก่อนโควิดการส่งออกไทยไม่ได้ขยายตัวที่เร็วมากแต่ที่น่าเป็นห่วงหลังวิกฤติโควิดการฟื้นตัวภาคส่งออกไทยยังช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งส่งสัญญาณว่าไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ด้านการส่งออก?

หากพิจารณาสินค้าส่งออกในตะกร้า พบว่า สินค้าของไทยที่มีสัดส่วนสินค้าไฮเทคต่ำกว่ามาเลเซีย  สิงคโปร์ และดัชนีความซับซ้อนของสินค้าในตะกร้า(ส่งออก) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่หลายประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหนึ่งในความเป็นห่วง คือ "ไทย" ยังอยู่ห่างไกลจาก "ญี่ปุ่น" เมื่อเทียบระดับแถวหน้า ขณะเดียวกัน ทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ไล่กวดไทยมาค่อนข้างเร็ว   

นอกจากนี้ ช่วงหลังไทยมีการนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งเป็นคำถามว่า ไทยกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไม่เพียงนอกประเทศแต่ในประเทศด้วยหรือไม่? ส่วนภาคท่องเที่ยวของไทยอาจจะมีเสน่ห์น้อยลงในสายตาต่างประเทศ ส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากเท่าที่ควรเมื่อเทียบอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม

ปัญหาเหล่านี้มีต้นตอ ทั้งความอ่อนแอในประเทศและบางส่วนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในต่างประเทศ นอกเหนือการควบคุม 

ยกตัวอย่าง .....เศรษฐกิจจีนที่มีการปรับยุทธศาสตร์ให้พึ่งการผลิตภายในประเทศมากขึ้น จึงเป็นความท้าทาย ต่อความต้องการปิโตรเคมีจากไทยน้อยลง  
 

-เปิด 4 เหตุผล “ไม่ลดดอกเบี้ย”

ด้าน “เงินเฟ้อ” ภาพรวมการปรับลดลงของเงินเฟ้อนั้น เป็นข่าวดีที่ภาคประชาชนที่ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่สูง กระบวนการลดลงของเงินเฟ้อที่ผ่านมาของไทย ถือว่า "ลดลงเร็วและดีกว่าต่างประเทศ" (ไม่ว่า อังกฤษ ยุโรป สหรัฐ และประเทศเพื่อนบ้านที่ยังต่อสู้กับเงินเฟ้อด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงเพื่อกระชากเศรษฐกิจ)

ในไทยนั้น ปัญหาเงินเฟ้อได้คลี่คลายลงและต้องไม่ลืมว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำหรือติดลบเล็กน้อย สะท้อนระดับราคาที่ไม่เพิ่มภาระกับประชาชน และส่วนหนึ่งก็สะท้อนสินค้าบางประเทศที่ราคาปรับขึ้นไปมากก่อนหน้าจากปัญหาอุปทาน เมื่อปัญหาอุปทานคลี่คลายลง

ที่สำคัญการที่เงินเฟ้อปรับลดลงและติดลบในช่วงที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯได้คาดการณ์ไว้แล้ว โดยการลดลงส่วนใหญ่มาจากอาหารสด, ราคาพลังงาน ซึ่งเป็นผลของมาตรการภาครัฐที่มาอุดหนุนภาคพลังงาน หากหักผลของมาตรการรัฐ อัตราเงินเฟ้อจะเป็นบวกในระดับต่ำ ขณะเงินเฟ้อพื้นฐาน ค่อนข้างนิ่งและทรงตัว

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาดัชนีสินค้าบริโภค รายสินค้าทั้งหมดประมาณ 400 รายการ แต่สินค้ากว่า 90 รายการ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้ารายหมวด ประมาณ 75% ของสินค้าในตะกร้า CPI ยังปรับเพิ่มขึ้นอยู่ มีเพียงประมาณ 25 รายการที่ราคาปรับลดลงเป็นสัดส่วนปกติ (ตัวที่ลดลงมากคือ เนื้อสัตว์และราคาน้ำมัน)

ดังนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ ไม่ได้หมายความว่า ราคาปรับลดลงทั่วหน้า ไม่สะท้อนกำลังซื้อหรืออุปสงค์ที่หดไป ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

ถามว่า ทำไมเงินเฟ้อติดลบ ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยก็มี 4 เหตุผลได้แก่

1. เงินเฟ้อติดลบส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเฉพาะที่ไม่ยั่งยืน 

2. กำลังซื้อไม่ได้แผ่ว นโยบายการเงินไม่สามารถตอบสนองปัจจัยนี้ 

3. เงินเฟ้อคาดการณ์ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในระดับประมาณ 2.00% ในหลายมิติ และ

4. การลดลงของเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัจจัยภาคการผลิตที่คลี่คลายลง ในบางสินค้าซึ่งเป็นข่าวดี

ทั้งนี้ นโยบายการเงินในการที่จะกำหนดแนวโน้มพยายามจะดู อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายยั่งยืนและมองในระยะข้างหน้า และคณะกรรมการฯมองอัตราเงินเฟ้อแนวโน้มยังติดลบในเดือนม.ค.จนถึงเดือน ก.พ.และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายในระดับ 1-3% ในปีนี้

ธปท.มองดอกเบี้ยนโยบายขณะนี้เหมาะสม คณะกรรมการจะประชุมปลายเดือนม.ค.นี้ และประกาศผลกลางเดือนหน้า ตอนนี้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังไปต่อ แต่จะดูปัญหาเชิงโครงสร้างว่าจะมีผลจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือจะสร้างปัญหากับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย  ในแง่เงินเฟ้อผลของเอลนีโญ แต่แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานจะค่อยๆเพิ่มขึ้น”...

แบงก์ชาติเปิด 4เหตุผล “ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย”


-หนี้ครัวเรือนสูง ลดความสามารถรองรับแรงกระแทกจากภายนอก

ดร.ปิติ กล่าวถึงด้านเสถียรภาพทางการเงินว่า คณะกรรมการฯจะให้น้ำหนักระหว่างภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ราคาสินทรัพย์และเรื่องการแสวงหาผลตอบแทนสูงโดยประเมินความเสี่ยงของการลงทุนต่ำกว่าที่ควรในภาวะดอกเบี้ยต่ำ (Search for Yield) แต่ปัญหาที่เผชิญขณะนี้คือ  ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง นอกจากฉุดรั้งกำลังซื้อของประชาชนแล้ว ยังสร้างความเปราะบางกับระบบเศรษฐกิจและลดความสามารถในการรองรับแรงกระแทกที่จะมาจากภายนอก

ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดต้องสอดรับกับศักยภาพพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะถ้ากำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการกู้ยืมทรัพยากรหรือรายได้ในอนาคตมาลงทุนในวันนี้ กลายเป็นรายได้ที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะเกิดปัญหาอย่างที่กำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้

"ประเทศไทย" มีหนี้อยู่ในระดับสูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ช่วงหลังพัฒนาการดีขึ้นปรับลดลงในระดับหนึ่ง แต่หนี้ครัวเรือนยังมีสัดส่วนหนี้สินที่มีสินทรัพย์รองรับน้อย เช่น สินเชื่อบ้านมีสัดส่วน 30% ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นที่มีสัดส่วนประมาณ 70-80% หนี้ครัวเรือนของไทยก้อนใหญ่จะเป็นสัดส่วนของการบริโภค และหนี้บัตรเครดิต ซึ่งไม่ได้สร้างศักยภาพรายได้ในอนาคต

ฉะนั้นการที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปก็จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่และอาจจะสร้างปัญหา Search For Yield สัดส่วนการถือครองหุ้นกู้Unratedสูงขึ้นเช่นกัน

เพราะฉะนั้นโดยรวม ในการบรรลุทั้ง 3 เป้าหมาย (เศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงิน) คณะกรรมการฯพยายามดูแลภาวะการเงินอย่างใกล้ชิดโดยพิจารณาหลายมิติ โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่สามารถแก้ปัญหาได้เฉพาะจุดได้มากกว่า 

“การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต้องพยายามให้อยู่ในระดับที่พอดีไม่สูงเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจ  หรือไม่ต่ำเกินไปสร้างปัญหาเชิงเสถียรภาพ ทั้งภายในและต่างประเทศ และไม่สะสมความไม่สมดุลทางการเงินซึ่งทั้งหมดทางคณะกรรมการฯ จะดูข้อมูลและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจุดยืน หากแนวโน้มของเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ได้ยึดจุดยืนโดยไม่ปรับเปลี่ยน แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินเศรษฐกิจมีพัฒนาการอย่างไร”

ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพิจารณาปัจจัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและดอกเบี้ยของไทยที่ระดับ 2.50% สะท้อนการชั่งน้ำหนักปัจจัยข้างต้น และอัตราดอกเบี้ยของไทยในระดับปัจจุบันก็อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยโลก

จุดยืนที่คณะกรรมการฯ ดูแลให้เกิดความสมดุลเป็นกลาง ภาวะการเงินไม่ฉุดรั้งเศรษฐกิจและมีเม็ดเงินหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องหมุนเวียน ส่วนค่าเงินอาจจะผันผวนบ้างแต่อยู่ในขอบเขตรับได้

ดร.ปิติ ย้ำว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไปได้เท่าที่ควรธปท.เองคำนึงถึงปัญหา ปากท้องประชาชน  ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนและลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธปท.ได้ออกหลายมาตรการ ตั้งแต่ก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและยังดำเนินการต่อไป

เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เป็นจุดตั้งต้นที่ดีขึ้น เศรษฐกิจภาพรวมขยายตัว  เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ภาคการเงินมั่นคง ภาคต่างประเทศเข้มแข็งและไทยยังมีจุดแข็งที่สามารถจะต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจได้ หากสามารถผลักดันการปฎิรูปโครงสร้างที่มีรูปธรรม จุดเปลี่ยนผ่านจะนำไปสู่การยกระดับที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน