ธปท.เผยแบงก์โกยกำไรปี 66 กว่า 2.5 แสนล้านบาท

19 ก.พ. 2567 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2567 | 09:05 น.

ธปท.เผยกำไรแบงก์พาณิชย์ ปี 2566 กว่า 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4 กำไรหดตัวจากไตรมาส3 เหตุต้นทุนเพิ่มทั้งค่าใช้จ่าย-สำรอง ย้ำติดตามความสามารถในการชำระหนี้ “เอสเอ็มอี-ครัวเรือน” แม้เอ็นพีแอลปรับลดต่ำกว่า 5แสนล้านบาท แนะใช้สินเชื่อฟื้นฟูก่อนหมดเขต9เม.ย.นี้

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เปิดเผยภาพรวมผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาส4ปี2566 และปี 2566 โดยระบุว่า ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 2566 และ ปี 2566  พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ  แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้

โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่อาจได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นและ ครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเปราะบาง และกลุ่มที่รับความช่วยเหลือบางกลุ่มไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ ซึ่งส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้น(เอ็นพีแอล)  แต่พยายามดูแลระบบให้สามารถบริหารจัดการโดยไม่เพิ่มแบบก้าวกระโดด

โดยรวมฐานะความมั่นคงอยู่ในระดับสูง ทั้งปี2566เงินกองทุนเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท เป็น 3.1ล้านล้านบาท มาจากการออกตราสารเพิ่มทุนของบางธนาคารพาณิชย์ที่ฐานสินเชื่อขยายเพิ่มและการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุนช่วงกลางปี  ด้านสภาพคล่อง (Liquidity coverage ratio: LCR)  204.4%จากการที่ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มเติม และเงินสำรอง (NPL coverage ratio) 179%

ขณะที่สินเชื่อรวมอยู่ที่ - 0.3% หดตัวเล็กน้อย  โดยมีการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ยอดคงค้างสิ้นปีที่ผ่านมา 3.75 ล้านล้านบาท โดยยอดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น 2.2แสนล้านบาทขยายตัว 6.2%ชะลอตัวลงจากไตรมาส3อยู่ที่ 8.1%ส่วนหนึ่งธุรกิจเร่งออกตราสารไปก่อนหน้าและนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังและแนวโน้มภาคธุรกิจบางส่วนหันกลับมาใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์หลังจากต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มหากไม่รวมการชำระคืนหนี้ของกระทรวงการคลัง

ธปท.เผยแบงก์โกยกำไรปี 66 กว่า 2.5 แสนล้านบาท

นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า  สินเชื่อภาพรวมของระบบหดตัวเล็กน้อย -0.3% จาก -0.9%  แต่มีการเติบโตสินเชื่อธุรกิจ และ สินเชื่ออุปโภคบริโภค  ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีหดตัว(สินเชื่อธุรกิจวงเงินต่ำกว่า 500ล้านบาท-5.1% จาก  -5.5%  ส่วนวงเงินมากกว่า 500ล้านบาทขยายตัว-0.01% -0.3% )

เมื่อดูในรายละเอียด พบว่า สินเชื่อธุรกิจหดตัวนั้นมาจากการชำระคืนทั้งรายใหญ่,เอสเอ็มอีและภาครัฐ   แต่สินเชื่อมีการขยายตัวในภาคพาณิชย์  และก่อสร้าง สินเชื่อธุรกิจหดตัวจากการชำระคืนหนี้ค่อนข้างมากของภาคอุตสาหกรรมและบางแห่งระดมทุนผ่านตราสารหนี้ แต่เห็นการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มบริษัทหรือโฮลดิ้ง เช่น  กลุ่มการเงิน พลังงานและบริการ

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเอสเอ็มอีนั้นหดตัวในหลายเซ็กเตอร์ เนื่องจากมีการชำระคืน โดยหลักๆมาจากการชำระคืนของภาคพาณิชย์ ,อุตสาหกรรมอาหาร  ยาและเคมีภัณฑ์ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ

ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 2.3% โดยมาจากสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวได้ดีที่ 7.0% จาก 2.8%    สินเชื่อบ้านขยายตัว 1.3% ชะลอลงจาก2.4%ไตรมาสก่อน  เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงทั้งแนวราบและอาคารชุด อีกทั้งผู้บริโภคกลุ่มรายได้ปานกลางชะลอการซื้อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ขณะเดียวกันบางธนาคารเริ่มเป็นห่วงคุณภาพหนี้ที่ด้อยลงจึงระมัดระวังเพิ่มขึ้นในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มรายได้น้อยและเปราะบาง

ในแง่ของสินเชื่อนั้น หากรวมสินเชื่อของบริษัทลูก/บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินพบว่า สินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวแต่เมื่อรวมบริษัทในกลุ่มสามารถขยายตัว 0.5% สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอเล็กน้อย

ส่วนคุณภาพหนี้โดยรวมปริมาณเอ็นพีแอลปรับลดลงจากไตรมาสก่อนโดยอยู่ในระดับต่ำกว่า 5แสนล้านบาท โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 492.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.66% โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการกลับมาชำระคืนหนี้

 ทั้งนี้  ธนาคารพาณิชย์ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องและบริหารจัดการหนี้อยู่ส่งให้ NPL ratio 2.66% ลดลงจาก 2.70% โดยเอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจอยู่ที่ 2.57% ปรับลดลงจาก 2.67%  เนื่องจากการชำระคืน  สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เอ็นพีแอลปรับตัวดีขึ้น(จากการชำระคืนหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้)

แต่ในส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคคุณภาพหนี้ยังด้อยลง2.88% จาก2.79% โดยยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ต (เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้าน 3.33% จาก 3.24% สินเชื่อส่วนบุคคล 2.48% จาก2.38%  สินเชื่อรถยนต์ 2.13% จาก 2.10% และสินเชื่อบัตรเครดิต 3.57% จาก 3.34%) ส่วนสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเอ็นพีแอลปรับเพิ่ม เนื่องจากฐานของสินเชื่อมีการลดลง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้อยลงเกือบทุกพอร์ตจากลูกหนี้เปราะบาง  

ขณะเดียวกันสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (stage 2) พบว่า ปริมาณปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 5.86%  จาก5.84%ไตรมาสก่อน  มาจากสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่ออุปโภคบริโภค  โดยสินเชื่อธุรกิจวงเงินต่ำกว่า 500ล้านบาทขยับเป็น 11.0%จาก 10.65%  วงเงินมากกว่า 500ล้านบาทอยู่ที่ 3.49% จาก 3.61%

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคStage2อยู่ที่ 6.86% จาก 6.66% ซึ่งมาจากสินเชื่อบ้าน 4.96% จาก4.45% และสินเชื่อส่วนบุคคล 4.66% จาก 4.45% แต่แนวโน้มสินเชื่อรถยนต์เริ่มลดลง 14.29%จาก 14.55%  

อย่างไรก็ตามสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับเพิ่มนั้นหลักๆเป็นผลจากการจัดชั้นเชิงคุณภาพและมีลูกหนี้บางส่วนรับความช่วยเหลือแล้วแต่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้  ส่วนสินเชื่อธุรกิจนั้นปรับลดลง ยกเว้นภาคก่อสร้าง และStage2 สินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นจากพาณิชย์และก่อสร้าง

สำหรับผลประกอบการปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 2.51แสนล้านบาท จาก 2.38 แสนล้านบาท   ส่วนหนึ่งของการปรับเพิ่มขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิดเพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะปรับเพิ่มหรือค่าใช้จ่ายสำรองและการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

แต่หากเทียบไตรมาส3 พบว่า ผลประกอบการปรับลดลง หลักๆค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น  ขาดทุนจากการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย ค่าใช้จ่ายสำรองที่ยังมากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์กันสำรองสูงต่อเนื่องแม้จะลดลงจากช่วงโควิด เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจซึ่งทำให้อัตราส่วนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์(NIM ,ROA, ROE)ไตรมาส4ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส3  

นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า  ในส่วนของภาคครัวเรือนไตรมาส 4 นั้น คาดว่าจะขยับอยู่ที่ประมาณ 91% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสามอยู่ที่  90.9% ส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อจีดีพีไตรมาส3อยู่ที่ 87.4% ปรับลดลงจากไตรมาส2อยู่ที่ 88% มาจากการชำระคืนหนี้

สำหรับคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือ จำนวน  3.52ล้านล้านบาท  คิดเป็น 6.37ล้านโดยสัดส่วนต่อพอร์ตอยู่ที่ 11%ของธนาคารพาณิชย์หรือ 13%ของพอร์ตสินเชื่อรวม 

สำหรับมาตรการฟื้นฟูจะหมดเขตการขอยืนคำขอตามพ.ร.ก.ในวันที่  9เม.ย.2567 โดยมีวงเงินคงเหลืออีก 13,000ล้านบาท โดยลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วกว่า 2.62แสนล้านบาท  66,224รายเฉลี่ยต่อราย 4ล้านบาท  สำหรับสินเชื่อเพื่อการปรับตัวยอดอนุมัติแล้ว 9,185ล้านบาทมีลูกหนี้ใช้เพื่อปรับตัวประมาณเกือบ600รายเฉลี่ยต่อราย 15.4 ล้านบาทเน้นลงทุนปรับตัว  

ธปท.เผยแบงก์โกยกำไรปี 66 กว่า 2.5 แสนล้านบาท