ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 25เม.ย. “อ่อนค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 37.08 บาท/ดอลลาร์

25 เม.ย. 2567 | 00:45 น.

เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง อาจยิ่งถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมเข้าซื้อทองคำ หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ควรปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ไฮไลท์สำคัญคืนนี้อยู่ที่ รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2567

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 25เม.ย. 2567 ที่ระดับ  37.08 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  37.02 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า  แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนคาของเงินบาทมีกำลังมากขึ้นอีกครั้ง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งเงินดอลลาร์ก็อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ (พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ)

หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้ง หรือไม่ลดดอกเบี้ย ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็อาจยิ่งถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมเข้าซื้อทองคำ หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ต้องรอจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ว่าจะทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมหรือไม่

 

เพราะหากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB ในช่วงโซนแนวต้านดังกล่าวเช่นกัน

อนึ่ง เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามความเสี่ยงที่ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน เพื่อหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ โดยเรามองว่า ทางการญี่ปุ่นอาจรอจังหวะที่โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เริ่มแผ่วลงชัดเจน ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่อง จนทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และเริ่มกลับมาคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟดราว 2-3 ครั้งในปีนี้ มากขึ้น

เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.95-37.20 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า (แกว่งตัวในช่วง 36.87-37.11 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

โดยภาพดังกล่าวก็ยังกดดันให้ ราคาทองคำมีจังหวะย่อตัวลงสู่โซน 2,320-2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาด การรอจังหวะเพิ่มสถานะ Short THB ของผู้เล่นต่างชาติ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ และพลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่เหลือในสัปดาห์นี้ ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของปี 2024

และอัตราเงินเฟ้อ PCE ทำให้แม้ว่าโดยรวมรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มออกมาดีกว่าคาดและส่งผลดีต่อหุ้นบางส่วน เช่น Texas Instrument +5.6% แต่ดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาดเพียง +0.02%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาลดลง -0.43% ท่ามกลางความกังวลผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร ที่กดดันให้บรรดาหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวลดลง อาทิ UBS -2.9% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อย่าง หุ้นกลุ่ม Semiconductor ตามความหวังแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้น สู่ระดับ 4.64% หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ และ อัตราเงินเฟ้อ PCE  ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ออกมาดีกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น

ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นต่อทดสอบโซน 4.70% ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นมีความน่าสนใจในทุกจังหวะการปรับตัวขึ้น (เน้นกลยุทธ์ทยอย Buy on Dip) โดยมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อีกทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ผันผวนอ่อนค่าลงทะลุโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่โซน 105.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-105.9 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปได้ และยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าในช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นได้ราว 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

 สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2024 ซึ่งหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้แข็งแกร่งและดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ส่งผลให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทาง ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า ECB จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายนนี้

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ทั้ง Microsoft, Alphabet และ Intel ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือนครึ่งครั้งใหม่ที่ 37.148 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ 6 ต.ค. 2566 ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 37.09-37.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.09 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 37.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินเยน (ซึ่งทำสถิติอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2533) ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/67 ของสหรัฐฯ ในคืนนี้ด้วยเช่นกัน

 อนึ่ง ตลาดยังคงติดตามท่าทีของทางการญี่ปุ่น หลังเงินเยนอ่อนค่าลงมากจนทะลุแนว 155 เยนต่อดอลลาร์ฯ รวมถึงผลการประชุม BOJ ซึ่งประชุม 25-26 เม.ย. นี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 37.00-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ (ช่วงจ่ายเงินปันผล) ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สถานการณ์ในตะวันออกกลาง และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 (advanced) และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนมี.ค.