ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 2ก.ค. “อ่อนค่า” ที่ระดับ 36.76 บาทต่อดอลลาร์

02 ก.ค. 2567 | 00:37 น.

ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของทั้งเงินยูโร เงินปอนด์ และปัจจัยเสี่ยงการเมือง ที่พร้อมจะกดดันให้สกุลเงินดังกล่าวอ่อนค่าลง

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 2ก.ค. 2567  ที่ระดับ  36.76 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.72 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทอาจพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง ตราบใดที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น

ทว่า ในช่วงนี้ เงินดอลลาร์ก็ดูยังได้แรงหนุนอยู่ จากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงการเมือง ที่พร้อมจะกดดันให้สกุลเงินดังกล่าวอ่อนค่าลง ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่า ตราบใดที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่กลับมาย่อตัวลง แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาแย่กว่าคาดก็ตาม

นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ โดยเฉพาะในส่วนของราคาทองคำ ที่อาจยังอยู่ในช่วงการปรับฐาน และอาจไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้

จนกว่าจะเห็นการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หรือ ตลาดเผชิญความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจยังมีความผันผวนอยู่ แม้ว่า นักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยในวันก่อนหน้าก็ตาม

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยอ่อนค่าลงในลักษณะ sideways up (แกว่งตัวในช่วง 36.68-36.79 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่แม้ว่าจะถูกกดดันจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน ที่ออกมาแย่กว่าคาด แต่เงินดอลลาร์ก็ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)

ซึ่งถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นเกือบแตะระดับ 4.50% ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติม จากจังหวะการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ (XAUUSD) ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์

แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นเกือบแตะระดับ 4.50% ทว่าบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างก็สามารถรีบาวด์ ปรับตัวขึ้น นำโดย Apple +2.9%  ท่ามกลางความหวังว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจทำให้เฟดสามารถจะลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ราว 2 ครั้ง ซึ่งมากกว่าที่เฟดระบุไว้ใน Dot Plot ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.83% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.27%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.32% หลังผลการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศส สะท้อนว่าพรรคขวาจัด (National Rally) แม้จะได้คะแนนมากสุด แต่ก็อาจไม่สามารถได้จำนวนที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาได้ (เกิน 289 ที่นั่ง) ทำให้บรรดาหุ้นฝรั่งเศสต่างรีบาวด์ขึ้น อาทิ BNP +3.6%, Airbus +2.6% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นยุโรป 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเกือบแตะระดับ 4.50% หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนกังวลว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งสมัยที่สอง พร้อมกับสภาคองเกรสภายใต้การควบคุมของพรรครีพับลิกัน อาจทำให้สหรัฐฯ เผชิญการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าวก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอ “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาว จากความหวังว่า เฟดจะยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตก็ออกมาย้ำภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” และหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.50% ได้อีกครั้ง ก็จะเป็นจังหวะที่ดีในการเพิ่มสถานะการลงทุนในบอนด์ระยะยาว

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 161.50 เยนต่อดอลลาร์ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเกือบแตะระดับ 4.50% ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็เผชิญแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง

ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.6-106 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงเกือบ -20 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง สู่ระดับ 2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างยังคงมีความหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็ยังมีความร้อนแรงอยู่

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 7.86 ล้านตำแหน่ง พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell เพื่อประเมินโอกาสที่เฟดอาจสามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด 

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมิถุนายน และรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า
เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.80-36.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.53 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางเงินเยน เงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวกลับมาตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นตามกระแสการคาดการณ์ของตลาดถึงความเป็นไปได้ว่า อดีตปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.70-36.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่   ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. ของยูโรโซน และตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ